คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6443/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในสัญญาซื้อขายนั้นนอกจากผู้ขายมีหน้าที่ต้องส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายให้แก่ผู้ซื้อแล้ว ผู้ซื้อก็มีหน้าที่ต้องชำระราคาให้แก่ผู้ขายเป็นการตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 486 เมื่อจำเลยให้การยอมรับว่าได้ซื้อสินค้าตามฟ้องโจทก์จริง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาสินค้าที่ซื้อให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาที่โจทก์ให้สินเชื่อแก่จำเลย การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยไม่มีภาระหน้าที่จะต้องชำระราคาสินค้าให้แก่โจทก์ โดยอ้างเหตุว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์แต่ผู้เดียวในประเทศไทยแล้วโจทก์กลับจำหน่ายสินค้าให้แก่นิติบุคคลหลายรายในประเทศไทยในราคาที่ต่ำกว่าจำหน่ายให้แก่จำเลย ทั้งโจทก์ได้รับประกันสินค้าเป็นเวลา 1 ปี นับจากวันที่ ผู้ซื้อสินค้ารับสินค้าไปแต่โจทก์บ่ายเบี่ยงไม่ดำเนินการเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่โดยไม่คิดมูลค่า จึงเป็นการที่จำเลยได้ยกข้อต่อสู้ขึ้นมาใหม่เพื่อปัดความรับผิดที่จะไม่ชำระราคาสินค้าให้แก่โจทก์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม เกี่ยวกับการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาห้าร้อยบาทหรือกว่านั้นขึ้นไปนั้น เมื่อได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ โจทก์ได้ส่งมอบสินค้าตามฟ้องให้จำเลยรับไปแล้วตามที่จำเลยสั่งซื้อ ถือได้ว่าได้มีการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายให้จำเลยไปแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระราคาสินค้าได้
ในการติดต่อซื้อขายสินค้า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจัดจำหน่าย (DISTRIBUTION AGREEMENT) กันครั้งแรกตั้งแต่ปี 2537 และครั้งหลังสุดได้ทำสัญญาจัดจำหน่ายในปี 2540 โดยการตั้งจำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ในประเทศไทย และโจทก์รับประกันที่จะซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าสำหรับสินค้าที่จำเลยส่งคืนในกรณีที่จำเลยขายสินค้าให้แก่ลูกค้าแล้วเกิดชำรุดบกพร่องในระยะเวลาประกัน 1 ปี ตามสัญญาในเรื่องคืนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องระบุว่า ให้ปฏิบัติตามนโยบายของโจทก์เกี่ยวกับการคืนสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง (Returned Merchandise Authority หรือ RMA Policy) การที่จำเลยจะขอนำสืบถึงการซื้อสินค้าคดีนี้ว่ามีข้อตกลงกันไว้ดังกล่าวและโจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญานั้น จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะนำสืบได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด จดทะเบียนและมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ประกอบธุรกิจผลิต ค้าและซ่อมแซมเครื่องคอมพิวเตอร์ ข้อมูลและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ โจทก์มอบอำนาจให้นางสาววารี ชินสิริกุล และหรือนายสุเมธ บุญรัตพันธุ์ ฟ้องคดีแทน จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการค้าเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องมือ เครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์โดยสั่งซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์หลายครั้งในระหว่างประมาณเดือนมิถุนายน ๒๕๔๐ ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๔๐ กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๐ จำเลยสั่งซื้อสินค้าตามใบกำกับภาษี เลขที่ ๑๔๘๖๐๔ เป็นเงินราคา ๒๐๖,๔๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๐ ตามใบกำกับภาษี เลขที่ ๑๔๘๖๖๘ เป็นเงิน ๑๙๒,๘๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ตามใบกำกับภาษี เลขที่ ๑๔๙๔๓๒, ๑๔๙๔๓๓ และ ๑๔๙๔๓๔ รวมเป็นเงิน ๑๑๑,๗๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ตามใบกำกับภาษี เลขที่ ๑๔๙๕๒๘ เป็นเงิน ๓๒,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ และวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๐ ตามใบกำกับภาษี เลขที่ ๑๔๙๘๕๖, ๑๔๙๘๕๗ และ ๑๔๙๘๕๙ รวมเป็นเงิน ๕๐๗,๙๗๕ ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินค่าสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากโจทก์ทั้งสิ้น ๑,๐๕๐,๘๗๕ ดอลลาร์สหรัฐ โดยจำเลยตกลงชำระราคาสินค้าแก่โจทก์ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ระบุในใบกำกับภาษีแต่ละครั้ง โจทก์ตกลงขายและจัดส่งสินค้าดังกล่าวจากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ให้จำเลยในประเทศไทยโดยทางอากาศและทางเรือ ซึ่งจำเลยผู้ซื้อได้รับสินค้าแล้วครบถ้วนในสภาพเรียบร้อย แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระราคา จำเลยผิดนัดไม่ชำระ โจทก์เรียกร้องและมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย อย่างไรก็ดี โจทก์ตกลงให้ส่วนลดพิเศษแก่จำเลยเป็นเงิน ๕๓,๕๓๗.๘๘ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อหักส่วนลดแล้ว จำเลยคงค้างค่าสินค้าจำนวน ๙๙๗,๓๓๗.๑๒ ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละ ๑ ต่อเดือน คำนวณดอกเบี้ยในหนี้รายการแรกถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๓๓,๑๑๔.๔๘ ดอลลาร์สหรัฐ รวมกับเงินต้นเป็นเงิน ๒๓๙,๕๑๔.๔๘ ดอลลาร์สหรัฐ คำนวณในหนี้รายการที่ ๒ ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย ๓๐,๖๗๘.๙๗ ดอลลาร์สหรัฐ รวมกับเงินต้นเป็นเงิน ๒๒๓,๔๗๘.๙๗ ดอลลาร์สหรัฐ คำนวณในหนี้รายการที่ ๓ ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย ๑๖,๖๓๕.๖๕ ดอลลาร์สหรัฐ รวมกับเงินต้นเป็นเงิน ๑๒๘,๓๓๕.๖๕ ดอลลาร์สหรัฐ คำนวณในหนี้รายการที่ ๔ ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย ๔,๗๐๒.๖๘ ดอลลาร์สหรัฐ รวมกับเงินต้นเป็นเงิน ๓๖,๗๐๒.๖๘ ดอลลาร์สหรัฐ และคำนวณในหนี้รายการที่ ๕ ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย ๗๐,๙๗๗.๓๓ ดอลลาร์สหรัฐ รวมกับเงินต้นเป็นเงิน ๕๗๘,๙๕๒.๓๓ ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์จนถึงวันฟ้องทั้งสิ้น ๑,๒๐๖,๙๘๔.๑๑ ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อหักส่วนลดที่โจทก์ตกลงลดให้จำเลย จำนวน ๕๓,๕๓๗.๘๘ ดอลลาร์สหรัฐ แล้ว จำเลยคงค้างชำระหนี้โจทก์ทั้งสิ้น ๑,๑๕๓,๔๔๖.๒๓ ดอลลาร์สหรัฐ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๑,๑๕๓,๔๔๖.๒๓ ดอลลาร์สหรัฐ และชำระดอกเบี้ยร้อยละ ๑ ต่อเดือน ในเงินต้น ๙๗๗,๓๓๗.๑๒ ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะนายซิม วอง ฮู และนายซี ซี ถัง ไม่มีอำนาจลงนามพร้อมประทับตราสำคัญของโจทก์ ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ดังนั้นนางสาววารี ชินสิริกุล และหรือนายสุเมธ บุญรัตพันธุ์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ จำเลยรับว่าเป็นลูกค้าของโจทก์และสั่งซื้อสินค้าตามฟ้องจริง แต่มีเงื่อนไขในการซื้อว่าโจทก์ตกลงแต่งตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยแล้วโจทก์ผิดสัญญาโดยจำหน่ายสินค้าประเภทเดียวกับที่จำหน่ายให้จำเลยให้นิติบุคคลหลายรายในประเทศไทยในราคาที่ต่ำกว่าที่จำหน่ายให้จำเลยทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขให้โจทก์รับประกันการซ่อมและเปลี่ยนตัวสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากโจทก์เป็นเวลา ๑ ปี นับแต่วันที่ผู้ซื้อสินค้าจากจำเลยรับสินค้าไป แต่โจทก์บ่ายเบี่ยงไม่เปลี่ยนสินค้าให้ลูกค้าของจำเลย โดยให้จำเลยเปลี่ยนสินค้าชนิดเดียวกันที่คุณภาพสูงกว่าให้ลูกค้าไป ทั้งยังมีสินค้าบางรายการที่โจทก์แจ้งหลังจากจำหน่ายให้จำเลยแล้วว่าโจทก์หยุดให้บริการหลังการขายเพราะสินค้าบกพร่อง การที่โจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขสัญญาดังกล่าวทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นมูลค่าประมาณ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และยังเสียหายต่อไปอีกในอนาคต โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินค้าจากจำเลย จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ค่าสินค้าและดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า (๑) โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ (๒) จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายหรือไม่ (๓) จำเลยต้องชำระเงินให้โจทก์เพียงใด โดยเห็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง จำเลยปฏิเสธภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ และให้โจทก์นำสืบก่อนแล้วให้จำเลยสืบแก้ต่อมาเมื่อโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนหมดพยานโจทก์แล้ว ในระหว่างสืบพยานจำเลย ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้สอบถามโจทก์จำเลยเกี่ยวกับที่จำเลยขอให้หมายเรียกกรรมการผู้จัดการของบริษัท เอ แอนด์ แอล คอมพิวเตอร์ จำกัด มาสอบถามเกี่ยวกับการที่โจทก์ขายสินค้าให้บริษัท เอ แอนด์ แอล คอมพิวเตอร์ จำกัด ในราคาที่ต่ำกว่าขายให้แก่จำเลยอันเป็นการผิดสัญญาที่ตกลงไว้กับจำเลย ซึ่งเมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังคำแถลงของโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยนั้น ในประเด็นข้อพิพาทที่ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายหรือไม่คลาดเคลื่อน น่าจะเป็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ ภาระการพิสูจน์ย่อมควรตกแก่จำเลย อย่างไรก็ดีสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์เป็นราคา ๕๐๐ บาท หรือกว่านั้น ซึ่งทำกันเป็นหนังสือ มีทั้งโจทก์ จำเลยลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาต้องตามบทบัญญัติมาตรา ๔๕๖ วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ว่าสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาห้าร้อยบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ จึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงตามมาตรา ๙๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งคู่ความ (รวมทั้งจำเลย) จะขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อนำเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอีกไม่ได้โดยไม่เข้าข้อยกเว้นตามวรรคท้ายของมาตรา ๙๔ ที่ว่า เป็นการนำสืบว่าเอกสารไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายตีความหมายผิด เพราะในคำให้การของจำเลยไม่ปรากฏข้อต่อสู้ดังนี้ไว้ ฉะนั้น ถึงแม้จะเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นมากล่าวอ้างใหม่และมีภาระการพิสูจน์ แต่จำเลยก็ไม่มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบประกอบตามภาระการพิสูจน์ จึงไม่จำต้องตั้งประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ส่วนประเด็นข้อพิพาทที่ว่าจำเลยต้องชำระเงินให้โจทก์เพียงใดนั้น เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องราคาสินค้าจากจำเลย และจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องชำระราคาสินค้าพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง แต่เมื่อไม่จำเป็นต้องตั้งประเด็นว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียแล้วก็ไม่จำเป็นต้องตั้งประเด็นนี้อีก จึงให้ยกเลิกประเด็นข้อพิพาททั้งสองนี้ คดีคงเหลือประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องสืบพยานจำเลยเกี่ยวกับประเด็นที่ยกเลิกแล้ว ส่วนประเด็นข้อพิพาทที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ทนายจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน และได้คัดค้านคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแล้ว
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑,๑๕๓,๔๔๖.๒๓ ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือน ในเงินต้น ๙๗๗,๓๓๗.๑๒ ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้ตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีคำสั่งยกเลิกประเด็นข้อพิพาททั้งสอง ดังกล่าวชอบหรือไม่ เห็นว่า ในสัญญาซื้อขายนั้นนอกจากผู้ขายมีหน้าที่ต้องส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายให้แก่ผู้ซื้อแล้ว ผู้ซื้อก็มีหน้าที่ต้องชำระราคาให้แก่ผู้ขายเป็นการตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๘๖ ดังนั้น เมื่อจำเลยให้การยอมรับว่าได้ซื้อสินค้าตามฟ้องโจทก์จริง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาสินค้าที่ซื้อให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาที่โจทก์ให้สินเชื่อแก่จำเลย การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยไม่มีภาระหน้าที่จะต้องชำระราคาสินค้าที่ซื้อขายกันให้แก่โจทก์ โดยอ้างเหตุว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์แต่ผู้เดียวในประเทศไทยแล้วโจทก์กลับจำหน่ายสินค้าให้แก่นิติบุคคลหลายรายในประเทศไทยในราคาที่ต่ำกว่าจำหน่ายให้แก่จำเลย ทั้งโจทก์ได้รับประกันสินค้าเป็นเวลา ๑ ปี นับจากวันที่ผู้ซื้อสินค้ารับสินค้าไปแต่โจทก์บ่ายเบี่ยงไม่ดำเนินการเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่โดยไม่คิดมูลค่า จึงเป็นการที่จำเลยได้ยกข้อต่อสู้ขึ้นมาใหม่เพื่อปัดความรับผิดที่จะไม่ชำระราคาสินค้าให้แก่โจทก์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยดังเช่นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว แต่การที่จำเลยจะนำพยานเข้าสืบไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคลหรือพยานเอกสารถึงการซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์จำเลยตามฟ้องนั้นว่ามีข้อตกลงกันไว้ดังกล่าวและโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ ดังเช่นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ วรรคสองและวรรคสามเกี่ยวกับการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาห้าร้อยบาทหรือกว่านั้นขึ้นไปนั้น นอกจากจะบัญญัติให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้แล้ว ยังได้บัญญัติไว้อีกว่า “…หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว…” ก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้เช่นกัน ซึ่งตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์แม้จะไม่ได้ความว่าในการสั่งซื้อสินค้าคดีนี้ โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกัน หรือได้มีหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายโจทก์หรือจำเลยผู้ต้องรับผิดไว้เป็นสำคัญไว้ แต่ได้ความว่าโจทก์ได้ส่งสินค้าตามฟ้องให้จำเลยรับไปแล้วตามที่จำเลยสั่งซื้อ อันถือได้ว่าได้มีการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายคือโจทก์ส่งมอบสินค้าให้จำเลยไปแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระราคาสินค้าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ ซึ่งในการที่โจทก์จำเลยติดต่อ ซื้อขายสินค้าตามฟ้องกันนี้ได้ความตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายชัย โฮ ยี หรือจาสเปอร์ ชัน ว่าโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจัดจำหน่าย (DISTRIBUTION AGREEMENT) กันครั้งแรกตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ และครั้งหลังสุด ได้ทำสัญญาจัดจำหน่ายในปี ๒๕๔๐ ตามเอกสารหมาย จ. ๑๔ โดยการตั้งจำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ในประเทศไทย และโจทก์รับประกันที่จะซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าสำหรับสินค้าที่จำเลยส่งคืนในกรณีที่จำเลยขายสินค้าให้แก่ลูกค้าแล้วเกิดชำรุดบกพร่องในระยะเวลาประกัน ๑ ปี ตามข้อ ๔.๓ เอกสารหมาย จ. ๑๔ ซึ่งระบุในเรื่องคืนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องว่าให้ปฏิบัติตามนโยบายของโจทก์เกี่ยวกับการคืนสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง (Returned Merchandise Authority หรือ RMA Policy) เอกสารหมาย จ. ๑๓ ดังนั้น การที่จำเลยจะขอนำสืบถึงการซื้อสินค้าคดีนี้ว่ามีข้อตกลงกันไว้ดังกล่าว และโจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญานั้น จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะนำสืบตามประเด็นข้อพิพาทข้อ (๒) ได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และให้ยกคำสั่งที่ให้ยกเลิกประเด็นข้อพิพาทข้อ (๒) และข้อ (๓) ด้วย ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้จำเลยนำพยานหลักฐานเข้าสืบต่อในประเด็นข้อพิพาททั้งสองจนสิ้นกระแสความก่อนแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share