คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6424/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งก่อสร้างออกจากที่ดินพิพาท และคืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ในสภาพไม่มีสิ่งปลูกสร้างและวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท การที่จำเลยเข้าไปดำเนินการก่อสร้างอาคารในที่ดินพิพาทหลังจากที่โจทก์ยื่นคำฟ้องแล้ว ย่อมเป็นการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิดที่ถูกฟ้องร้อง อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ หากศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี กรณีจึงมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตาม ป.วิ.พ. 254 (2) มาใช้โดยห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยและบริวารดำเนินการก่อสร้างอาคารในที่ดินพิพาทจนกว่าจะถึงที่สุดได้
ตามคำขอของโจทก์มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้ หากจำเลยได้รับความเสียหายจำเลยก็มีสิทธิที่จะว่ากล่าวเอาแก่โจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 263 เมื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำขอของโจทก์โดยไม่สั่งให้โจทก์นำเงินหรือหาประกันมาวางตามมาตรา 257 วรรคท้าย จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมคืนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4956 ด้านทิศตะวันออก เนื้อที่ 1 ไร่เศษ แก่โจทก์ในสภาพไม่มีสิ่งปลูกสร้างและวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและโจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวว่า จำเลยกำลังปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนในที่ดินดังกล่าว อันจะทำให้โจทก์เดือดร้อนและเสียหาย เพราะหากโจทก์ชนะคดีก็จำต้องรื้อทำลายทั้งจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยใช่เหตุ ขอให้มีคำสั่งห้ามจำเลยกระทำการดังกล่าวชั่วคราวก่อนพิพากษา
จำเลยยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้จำเลยและบริวารหยุดการก่อสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่ 4956 ตำบลตลาดจันทบุรี อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ด้านทิศตะวันออก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4956 ตำบลตลาดจันทบุรี อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 23 ไร่ 1 งาน 36 ตารางวา โรงเรียนจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทในโฉนดที่ดินดังกล่าว จำเลยจะปลูกสร้างอาคารในที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เศษ โจทก์ไม่ยินยอมจึงนำคดีมาฟ้อง ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้ตามคำขอของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งก่อสร้างออกจากที่ดินพิพาท และคืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ในสภาพไม่มีสิ่งปลูกสร้างและวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โฉนดที่ดินของโจทก์ออกโดยไม่ถูกต้อง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าฝ่ายใดเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นดังกล่าว การที่จำเลยเข้าไปดำเนินการก่อสร้างอาคารในที่พิพาทหลังจากที่โจทก์ยื่นคำฟ้องแล้ว ย่อมเป็นการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิดที่ถูกฟ้องร้อง อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ หากศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี กรณีจึงมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) มาใช้ โดยห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยและบริวารดำเนินการก่อสร้างอาคารในที่ดินพิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุดได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า หากศาลอนุญาตตามคำขอของโจทก์ จะทำให้การก่อสร้างอาคารของจำเลยต้องเนิ่นช้าออกไปเป็นที่เสียหาย จึงชอบที่จะยกคำขอของโจทก์หรือสั่งให้โจทก์นำเงินหรือหาประกันมาวางนั้น เห็นว่า ตามคำขอของโจทก์มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้ โจทก์ก็ชอบที่จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิที่มีอยู่ หากจำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยก็มีสิทธิที่จะว่ากล่าวเอาแก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 263 เมื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำขอของโจทก์โดยไม่สั่งให้โจทก์นำเงินหรือหาประกันมาวางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 257 วรรคท้าย จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share