คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2329/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาหลายสิบปีแม้ไม่ได้บรรยายว่าครอบครองมาตั้งแต่เมื่อใดปีไหนและครบกำหนดเวลาสิบปีเมื่อใดก็ตามก็เป็นรายละเอียดที่จำเลยอาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เคลือบคลุม แม้จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าพื้นที่ในเส้นสีแดงตามแผนที่ท้ายฟ้องน่าเชื่อว่าอยู่ในแนวที่ดินของจำเลยหรือแม้จะอยู่ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมายก็ไม่เป็นคำให้การฟ้องแย้งที่ขัดกันเองเพราะที่จำเลยให้การและฟ้องแย้งเช่นนั้นเนื่องจากที่ดินของโจทก์และของจำเลยเป็นโฉนดรุ่นเก่าสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่มีหลักเขตแน่นอนเจ้าของเดิมและจำเลยได้ครอบครองกันเป็นส่วนสัดอย่างเป็นเจ้าของมานานย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นของจำเลยแต่หากเป็นของโจทก์ทั้งสองจำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ซึ่งเป็นคำให้การและฟ้องแย้งที่บรรยายให้เข้าใจสภาพที่ดินพิพาทว่ามีอยู่อย่างไรเป็นกรรมสิทธิ์ของใครอย่างไรคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 894 เนื้อที่ 3 ไร่ 96 ตารางวา เมื่อปี 2519นางเดือนและนางสาวละเอียดได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 891 เนื้อที่2 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา ให้แก่จำเลย ซึ่งที่ดินดังกล่าวนี้อยู่ติดต่อทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ต่อมาจำเลยได้บุกรุกเข้าไปถอนและตัดต้นไม้ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองทางด้านทิศตะวันตกเพื่อถือการครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวาโจทก์ทั้งสองบอกกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจำนวน 3,000 บาท และโจทก์ทั้งสองอาจนำที่ดินส่วนที่จำเลยรุกล้ำออกหาประโยชน์ได้อย่างน้อยอัตราเดือนละ3,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท และค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยบุกรุกนั้นเป็นที่ดินที่จำเลยครอบครองมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วโดยปลูกต้นมะพร้าว ต้นมะม่วง และต้นกล้วย เป็นต้น ซึ่งต้นมะพร้าวได้ปลูกเป็นแนวตรงกั้นเขตระหว่างที่ดินของโจทก์ทั้งสองกับจำเลยโดยนางเดือน เจ้าของเดิมเป็นผู้ปลูก เพราะระหว่างที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่มีหลักเขต โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากวงศ์ญาติ และรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทนั้นจำเลยเป็นเจ้าของและครอบครองมาถือว่าโจทก์ทั้งสองไม่เป็นบุคคลภายนอกและได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริตจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยผู้ครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ จำเลยไม่ได้ทำให้ต้นไม้ของโจทก์ทั้งสองเสียหาย ต้นไม้ดังกล่าวมีเพียง 4 ถึง 5 ต้น ราคาไม่เกิน 50 บาท และที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดที่ดินโจทก์ทั้งสองได้นำชี้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยถือว่าโจทก์มีเจตนาบุกรุกที่ดินของจำเลยเพื่อถือการครอบคดรองที่ดิน ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และพิพากษาว่าที่ดินพิพาทภายในเส้นสีแดงในแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 4 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ห้ามโจทก์ทั้งสองหรือบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีก
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองจำเลยได้เข้ามาครอบครองในที่ดินพิพาทดังกล่าวโดยถือวิสาสะ มิได้มีเจตนาครอบครองอย่างเป็นเจ้าของเพราะว่าจำเลยกับโจทก์ทั้งสองเป็นญาติกัน จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ทั้งจำเลยครอบครองมาไม่ถึง 10 ปี การที่จำเลยและบริวารกับเจ้าของที่ดินเดิมได้เข้ามาครอบครองในที่ดินพิพาทเป็นการครอบครองแทนโจทก์โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินมาจากเจ้าของเดิมโดยเสียค่าตอบแทนโดยไม่ทราบว่าจำเลยเข้ามาครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์และเจ้าของเดิมผู้ขายได้แจ้งให้โจทก์ทราบด้วยว่าที่ดินพิพาทอยู่ในโฉนดที่ดินดังกล่าวด้วย คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยมิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินในเส้นสีแดงเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างไร ครอบครองมาเป็นเวลาหลายสิบปี นับแต่เมื่อใดถึงเมื่อใดปีไหน และยังบรรยายขัดกันอีกว่าพื้นที่ภายในเส้นสีแดงน่าเชื่อว่าอยู่ในโฉนดที่ดินของจำเลยหรือแม้จะอยู่ในที่ดินโจทก์ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย จึงเป็นคำให้การและฟ้องแย้งที่ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้น คำให้การและฟ้องแย้งจึงเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้ที่ดินพิพาทภายในเส้นสีแดงแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 4 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป
โจทก์ ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกา วินิจฉัย ว่า
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า การที่จะได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น จำเลยจะต้องครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเวลาสิบปี จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาหลายสิบปีโดยไม่ได้บรรยายว่าครอบครองมาตั้งแต่เมื่อใด ปีไหน จึงเป็นคำให้การและฟ้องแย้งที่ไม่ชัดแจ้งพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าตามกฎหมายเพียงแต่กำหนดว่าการครอบครองจะต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีจึงจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ส่วนจะครอบครองตั้งแต่เมื่อใด ปีไหน และครบกำหนดเวลาสิบปีเมื่อใดนั้น เป็นรายละเอียดที่จำเลยอาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา โจทก์ทั้งสองฎีกาอีกว่าที่จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าพื้นที่สีแดงน่าเชื่อว่าอยู่ในแนวที่ดินของจำเลย หรือแม้จะอยู่ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมายเป็นคำให้การและฟ้องแย้งที่ขัดกันเองนั้น เห็นว่าที่จำเลยให้การและฟ้องแย้งเช่นนั้นเนื่องจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองและของจำเลยเป็นโฉนดรุ่นเก่าสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่มีหลักเขตแน่นอน เจ้าของเดิมและจำเลยได้ครอบครองกันเป็นส่วนสัดอย่างเป็นเจ้าของมานานย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นของจำเลยแต่หากเป็นของโจทก์ทั้งสองจำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ซึ่งเป็นคำให้การและฟ้องแย้งที่บรรยายให้เข้าใจสภาพที่ดินพิพาทว่ามีอยู่อย่างไรเป็นกรรมสิทธิ์ของใครอย่างไรคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของจำเลยและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ไม่เป็นคำให้การและฟ้องแย้งที่เคลือบคลุม
พิพากษายืน

Share