แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 281 และมาตรา 292 แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิที่จะให้งดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวได้โดยจะต้องแจ้งแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้งดการบังคับคดีไว้ชั่วคราว แต่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแม้จะอยู่ด้วยในเวลาบังคับคดี โจทก์ก็ไม่มีสิทธิป้องกันหรือขัดขวางแก่การบังคับคดีได้ การบังคับคดีจะต้องดำเนินการต่อไป ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้ไปอยู่ด้วยในเวลาบังคับคดีก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นความผิดของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนผิดด้วยในการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ไป
ราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดแก่ผู้ซื้อไปเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าใกล้เคียงกับราคาประเมินของทางราชการจึงเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่คดีนี้เป็นเรื่องความเสียหายที่ทรัพย์ของโจทก์ถูกขายทอดตลาดไปโดยจำเลยไม่ไปแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้ชั่วคราวตามที่ตกลงไว้กับโจทก์จึงเป็นคนละเรื่องกัน ไม่อาจพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกันได้
การที่จะวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นเรื่องละเมิดหรือผิดสัญญานั้น ต้องพิเคราะห์รายละเอียดคำฟ้องทั้งฉบับ มิใช่พิเคราะห์เฉพาะถ้อยคำบางคำในฟ้องเท่านั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์โจทก์เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ก่อนถึงกำหนดวันขายทอดตลาดโจทก์ตกลงกับจำเลยว่าโจทก์ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยชำระให้แก่โจทก์ในวันที่ตกลงกันบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเป็นงวดโดยโจทก์สั่งจ่ายเช็คเป็นงวด ๆให้แก่จำเลยไว้ จำเลยตกลงว่าจะไปดำเนินการแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้ ครั้นถึงกำหนดวันนัดขายทอดตลาด จำเลยไม่ดำเนินการตามที่ตกลง เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ไป การกระทำของจำเลยเป็นการผิดข้อตกลงและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายดังนี้ ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องกล่าวหาว่าจำเลยผิดสัญญา แม้ในข้อหาหรือฐานความผิดจะระบุว่าละเมิดและในคำฟ้องจะมีคำว่าเป็นละเมิดต่อโจทก์นั้นก็เป็นการกล่าวเกินเลยไปเท่านั้น หาทำให้ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องละเมิดไปด้วยไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความโดยเห็นว่าเป็นเรื่องละเมิดนั้น ก็เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์เห็นว่าไม่ขาดอายุความเพราะเป็นเรื่องผิดสัญญาย่อมมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ จึงเป็นเรื่องที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์โจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษาจึงชอบแล้ว
แม้ไม่มีข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายไว้ แต่การที่มีข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยว่าจำเลยต้องไปแจ้งของดการบังคับคดีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องกระทำการคือไปแจ้งของดการบังคับคดีอันถือว่าจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงซึ่งเป็นการผิดสัญญาเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์แก่ผู้ซื้อไปโจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย และมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แทนการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ได้ตามหลักกฎหมายเรื่องค่าเสียหายตาม ป.พ.พ.มาตรา 222 อันเป็นคนละเรื่องกับค่าเสียหายที่กำหนดไว้ในข้อสัญญา
การที่จำเลยไม่ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้งดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวไม่ทันตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ มิใช่กรณีกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายตามมาตรา 420 แต่เป็นการผิดสัญญาจึงไม่อาจใช้อายุความ 1 ปี