แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ทรัพย์ที่จำเลยกับพวกร่วมกันลักเป็นพระพุทธรูปและอยู่ในวัดผู้เสียหาย แต่พระพุทธรูปดังกล่าวเก็บไว้ในศาลาบำเพ็ญกุศลหลังเก่าอยู่ในสภาพถูกปล่อยทิ้งร้างและรกรุงรัง มิได้จัดวางไว้ในที่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนสักการะบูชา รวมทั้งไม่มีเครื่องบูชา จึงยังถือไม่ได้ว่าพระพุทธรูปดังกล่าวเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 335 ทวิ วรรคแรก แม้จำเลยกับพวกร่วมกันลักพระพุทธรูปดังกล่าวภายในวัดผู้เสียหายก็ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 335 ทวิ วรรคสอง ทั้งศาลาบำเพ็ญกุศลมีไว้เพื่อใช้จัดงานพิธีศพ จึงมิใช่เป็นสถานที่บูชาสาธารณะ ตาม ป.อ. มาตรา 335 (9) การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปและโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด การพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 เท่านั้น ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 335 ทวิ วรรคสอง, 336 ทวิ ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 5,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุก 7 ปี 6 เดือน คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี 9 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 5,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ นายมานิตย์หรืออิ๊ด กับพวกร่วมกันลักพระพุทธรูป อายุ 50 ปี ราคา 5,000 บาท ของวัดโพพระนอกผู้เสียหายที่เก็บรักษาไว้ในศาลาบำเพ็ญกุศล โดยใช้รถกระบะที่จำเลยจัดหามาเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด การพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ขณะลักทรัพย์จำเลยอยู่กับนายมานิตย์และพวกในที่เกิดเหตุด้วย… แม้ทรัพย์ที่จำเลยกับพวกร่วมกันลักจะเป็นพระพุทธรูปและอยู่ในวัดผู้เสียหาย แต่ได้ความว่าพระพุทธรูปดังกล่าวเก็บไว้ในศาลาบำเพ็ญกุศลหลังเก่าซึ่งเห็นได้ชัดตามภาพถ่ายว่า อยู่ในสภาพที่ถูกปล่อยทิ้งร้างและรกรุงรัง มิได้จัดวางไว้ในที่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนไปสักการะบูชาแต่ประการใด รวมทั้งเครื่องบูชาอย่างใด ๆ ไม่มีปรากฏให้เห็น จึงยังถือไม่ได้ว่าพระพุทธรูปดังกล่าวเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ วรรคแรก ดังนี้ แม้จำเลยจะได้ร่วมกับพวกลักพระพุทธรูปดังกล่าวภายในวัดผู้เสียหาย ก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ วรรคสอง ทั้งศาลาบำเพ็ญกุศลมีไว้เพื่อใช้จัดงานพิธีศพ จึงมิใช่เป็นสถานที่บูชาสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (9) การกระทำของจำเลยจึงคงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปและโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด การพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบ มาตรา 336 ทวิ, 83 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225 และเมื่อผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขโทษให้เหมาะสมด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุก 6 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง แล้ว คงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7.