คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6407/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 วรรคสอง เพียงแต่บัญญัติยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในการดำเนินคดีในศาล แต่มิได้มีบทบัญญัติใดกล่าวถึงอำนาจศาลในการที่จะพิจารณาสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับผิดชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาลในนามของผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลเหมือนเช่นกรณีการได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลเพราะได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 158 (เดิม) ก็ตาม แต่กรณีก็ต้องนำบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 158 (เดิม) ดังกล่าวมาใช้บังคับแก่กรณีการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมแก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในการดำเนินคดีในศาลในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง ดังนั้น แม้กฎหมายจะยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือโจทก์ก็ตาม แต่อานิสงส์เช่นว่านี้ก็ไม่ควรเป็นประโยชน์ที่ตกได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ฟ้องหรือสู้ความโดยไม่สุจริต โดยเหตุนี้หากในการพิพากษาคดีศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า จำเลยที่ 2 ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่แพ้คดีจะต้องเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 นั้นชำระค่าฤชาธรรมเนียมอื่น นอกจากค่าทนายความต่อศาลในนามของโจทก์ผู้ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมนั้นได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องซึ่งเป็นวันที่โจทก์ขอ แต่กลับพิพากษาให้ชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง อันเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนโดยมิได้แก้ไข ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 299,510.27 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 190,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่นางวารีย์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 218,879.45 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 140,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่นายสามารถ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 169,160.55 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 108,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่นางเครือวัลย์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 145,315.07 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 96,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่นางสาวสายฝน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 299,510.27 บาท ให้แก่นางวารีย์ ชำระเงิน 218,879.45 บาท ให้แก่นายสามารถ ชำระเงิน 169,160.55 บาท ให้แก่นางเครือวัลย์ และชำระเงิน 145,315.07 บาท ให้แก่นางสาวสายฝน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 190,000 บาท 140,000 บาท 108,000 บาท และ 96,000 บาท ตามลำดับ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่ผู้บริโภคทั้งสี่ราย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ แต่ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต่อศาลในนามของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้มีค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้ชำระไว้ต่อศาลจึงไม่มีค่าธรรมเนียมที่จะต้องชำระแทนโจทก์นั้น เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 วรรคสอง เพียงแต่บัญญัติยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในการดำเนินคดีในศาลแต่มิได้มีบทบัญญัติใดกล่าวถึงอำนาจศาลในการที่จะพิจารณาสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับผิดชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้นชำระค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาลในนามของผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลเหมือนเช่นกรณีการได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลเพราะได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 158 (เดิม) ก็ตาม แต่กรณีก็ต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158 (เดิม) ดังกล่าวมาใช้บังคับแก่กรณีการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมแก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในการดำเนินคดีในศาลในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ดังนั้น แม้กฎหมายจะยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือโจทก์ก็ตาม แต่อานิสงส์เช่นว่านี้ก็ไม่ควรเป็นประโยชน์ที่ตกได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ฟ้องหรือสู้ความโดยไม่สุจริต โดยเหตุนี้หากในการพิพากษาคดีศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า จำเลยที่ 2 ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่แพ้คดีจะต้องเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 นั้นชำระค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากค่าทนายความต่อศาลในนามของโจทก์ผู้ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมนั้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาส่วนนี้มา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องซึ่งเป็นวันที่โจทก์ขอ แต่กลับพิพากษาให้ชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง อันเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนโดยมิได้แก้ไข ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนของผู้บริโภคแต่ละคนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้บริโภคทั้งสี่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share