คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 303/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยยินยอมชำระเงินเมื่อมีการยื่นตั๋วแลกเงินของผู้รับประโยชน์พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยของธนาคารโจทก์นับแต่วันที่ออกตั๋วแลกเงินถึงวันชำระเงิน รวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หากไม่ปฏิบัติตาม ยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่กำหนดโดยธนาคารโจทก์นับจากวันที่สินค้ามาถึงกรุงเทพมหานครถึงวันที่ชำระเงิน เมื่อสินค้าตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวเดินทางมาถึง จำเลยได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารการรับสินค้าไปก่อนโดยยังไม่ชำระเงิน โดยมีข้อสัญญาว่าจะชำระตามตั๋วแลกเงินภายในเวลาที่กำหนดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดไว้ สัญญาทรัสต์รีซีทจึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตหมายความว่า ถ้าจำเลยปฏิบัติตามสัญญาทรัสต์รีซีทก็ย่อมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตในอัตราที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่ถ้าจำเลยผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารโจทก์กำหนดไว้นับแต่เวลาที่สินค้ามาถึงกรุงเทพมหานครถึงวันที่ชำระเงิน
เมื่อปรากฏว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในแต่ละช่วงเวลาของโจทก์แตกต่างกันตามประกาศของโจทก์แต่ละฉบับ จำเลยก็ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ประกาศไว้ในช่วงเวลาที่ผิดนัดสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับ กรณีไม่ใช่เรื่องที่โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยและจะต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบแต่อย่างใด แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องถึงอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาไว้ให้ชัดเจน แต่ในคำฟ้องได้มีการคำนวณดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัดของหนี้แต่ละจำนวนถึงวันฟ้อง โดยแนบสำเนาประกาศธนาคารโจทก์ เรื่องอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดขั้นสูงสุดมาด้วยและในชั้นพิจารณาโจทก์ก็นำสืบโดยอ้างส่งสำเนาประกาศดังกล่าวที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตรงกันกับช่วงเวลาที่โจทก์คิดคำนวณมาในฟ้อง ดังนั้น คำฟ้องและพยานหลักฐานของโจทก์จึงชัดเจนเพียงพอที่จะกำหนดดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดได้
สัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตไม่ได้ระบุจำกัดให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดในวันที่มีการผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น กรณีจึงหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่มีได้หลายอัตราตลอดช่วงเวลาที่จำเลยยังไม่ชำระหนี้ สัญญาดังกล่าวจึงมีเจตนาให้คิดดอกเบี้ยปรับเปลี่ยนลอยตัวได้ แต่เนื่องจากเงินค่าดอกเบี้ยส่วนที่สูงกว่าที่กำหนดไว้เดิมเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 383 โดยกำหนดให้เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดของโจทก์บวก 0.25 และปรับเปลี่ยนขึ้นลงแปรผันตามอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกจากลูกค้าทั่วไปตามประกาศของโจทก์ที่ประกาศไว้แล้วและที่จะประกาศต่อไปหลังวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดและไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและเป็นลูกค้าของโจทก์ สาขาวิสุทธิกษัตริย์ ได้ทำคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และตกลงยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยทั่วไป นับแต่วันที่ผู้ขายได้เรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากธนาคารสาขาหรือธนาคารตัวแทนของโจทก์จนถึงวันชำระหนี้ ตลอดจนยอมใช้ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ดำเนินการไปเกี่ยวกับการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าว จำเลยที่ 1 ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้กับโจทก์ สาขาวิสุทธิ์กษัตริย์รวม 9 ฉบับ สัญญาว่าจะชำระค่าสินค้าคืนให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและทำสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันลำดับที่สอง โฉนดที่ดินเลขที่ 18778 ถึง 18780 และ 29662 ถึง 29676 ตำบลราษฎร์บูรณะ อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ไว้กับโจทก์เป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.75 ต่อปี เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับโจทก์ในขณะนั้นหรือที่จะมีต่อไปในภายหน้า และจำเลยที่ 2 ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนว่าหากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นชำระหนี้จนครบ เมื่อสัญญาทรัสต์รีซีททุกฉบับครบกำหนดเวลาชำระเงิน จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 และบอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยที่ 2 โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวและครบกำหนดชำระแล้ว จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระต้นเงินดอกเบี้ย ค่าอากร ค่าเทเล็กซ์ และอื่น ๆ จำนวน 15,186,528.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี จากต้นเงิน 9,766,590.01 บาท

จำเลยที่ 1 ให้การว่า หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 9 ฉบับ อีกทั้งค่าอากรแสตมป์ค่าธรรมเนียมการออกเลตเตอร์ออฟเครดิต ค่าเทเล็กซ์ ไปรษณียากรและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวม 64,846.25 บาท โจทก์ได้หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทางบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ไปแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจำนวน 5,353,055.75 บาท จากจำเลยที่ 1เพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นการคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 9 ฉบับ รวมทั้งค่าอากรแสตมป์ค่าธรรมเนียมการออกเลตเตอร์ออฟเครดิต ค่าเทเล็กซ์ ไปรษณียากร และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวม 64,846.25 บาท โจทก์ได้หักทางบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ไปแล้วจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์กำหนดและคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสูงเกินไป เป็นการคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศไม่ถูกต้องโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 หรือร้อยละ 19.75 เพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด และเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 15,121,682.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ19.75 ต่อปี จากต้นเงิน 9,766,590.01 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (31 กรกฎาคม 2541)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 18778, 18779,18780, 29662, 29663, 29664, 29665, 29666,29667, 29668, 29669, 29670, 29671,29672, 29673, 29674, 29675, 29676 เลขที่ดิน 633, 634, 1494, 1495, 1496,1497, 1498, 1499, 1500, 1501 1487, 1488, 1489, 1490, 1491, 1492, 1493 ตำบลราษฎร์บูรณะ อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากไม่พอให้บังคับคดีเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์สาขาวิสุทธิกษัตริย์ ได้ทำคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตรวม 9 ฉบับ ตามเอกสารหมายจ.7 ถึง จ.24 เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านโจทก์ สาขาสะพานผ่านฟ้า เมื่อสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อส่งมาถึงประเทศไทย โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระให้โจทก์แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินมาชำระ และได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทรวม 9 ฉบับ เอกสารหมาย จ.25 ถึง จ.42 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดหรือผิดสัญญา ไม่ชำระหนี้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ในต้นเงิน10,000,000 บาท และดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระทั้งสิ้นปรากฏตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.43 และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 18778 ถึง18780 และ 29662 ถึง 29676 ตำบลราษฎร์บูรณะ อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานครรวม 18 แปลง เป็นประกันลำดับที่สอง เป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.75 ต่อปี เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับโจทก์ในขณะนั้นหรือที่จะมีต่อไปในภายหน้า และจำเลยที่ 2 ตกลงว่าหากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้ไม่พอชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นชำระหนี้จนครบถ้วน ปรากฏตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันเอกสารหมาย จ.44 เมื่อสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 9 ฉบับครบกำหนดชำระโดยสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 1 จำนวนเงิน 12,058.15 ปอนด์สเตอร์ลิง คิดเป็นเงินไทย476,809.40 บาท ครบกำหนดชำระวันที่ 28 พฤษภาคม 2538 ฉบับที่ 2 จำนวนเงิน32,400 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 798,012 บาท ครบกำหนดชำระวันที่ 28เมษายน 2538 ฉบับที่ 3 จำนวนเงิน 23,300 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย578,539 บาท ครบกำหนดชำระวันที่ 21 กรกฎาคม 2538 ฉบับที่ 4 จำนวนเงิน 102,000ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 2,510,220 บาท ครบกำหนดชำระวันที่ 8 พฤษภาคม2538 ฉบับที่ 5 จำนวนเงิน 114,400 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 2,856,568 บาทครบกำหนดชำระวันที่ 15 สิงหาคม 2538 ฉบับที่ 6 จำนวนเงิน 4,525 ปอนด์สเตอร์ลิงคิดเป็นเงินไทย 180,604.06 บาท ครบกำหนดชำระวันที่ 5 ตุลาคม 2538 ฉบับที่ 7จำนวนเงิน 21,744.42 ปอนด์สเตอร์ลิง คิดเป็นเงินไทย 854,283.90 บาท ครบกำหนดชำระวันที่ 8 มกราคม 2539 ฉบับที่ 8 จำนวนเงิน 7,658.15 ปอนด์สเตอร์ลิง คิดเป็นเงินไทย 298,246.65 บาท ครบกำหนดชำระวันที่ 6 ธันวาคม 2538 และฉบับที่ 9 จำนวนเงิน47,900 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 1,213,307 บาท ครบกำหนดชำระวันที่ 8มกราคม 2539 จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระรวมต้นเงินทั้งสิ้น 9,766,590.01 บาท ส่วนค่าอากรค่าเทเล็กซ์ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมเป็นเงิน 64,846.25 บาท โจทก์ได้หักจากบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 ไว้แล้ว โจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ดอกเบี้ยของต้นเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีททั้ง 9 ฉบับ คิดในอัตราสูงสุดของประกาศธนาคารโจทก์นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเงินรวม 5,355,092.24 บาท

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อแรกว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงใด จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตทั้ง 9 ฉบับมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ และตามคำฟ้องโจทก์ก็มิได้บรรยายให้ชัดเจนว่า คำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทนั้น จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเท่าใด เพียงแต่ระบุว่าจำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยทั่วไป ทั้งในสัญญาก็มิได้กำหนดให้โจทก์มีสิทธิปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น เห็นว่า ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตของจำเลยที่ 1 ทั้ง 9 ฉบับตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.24 ข้อ 7มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษแปลได้ว่า ข้าพเจ้ายินยอมชำระเงินเมื่อมีการยื่นตั๋วแลกเงินของผู้รับประโยชน์ในแต่ละจำนวนตามตั๋วแลกเงินภายใต้เอกสารเครดิตนี้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับตามอัตราดอกเบี้ยของธนาคารท่านนับจากวันที่ออกตั๋วแลกเงินถึงวันชำระเงิน รวมตลอดทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินนั้น ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้ายินยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่กำหนดโดยธนาคารท่าน นับจากวันที่สินค้ามาถึงกรุงเทพมหานครโดยทางเรือหรือทางเครื่องบินถึงวันที่ชำระเงินตามจำนวนดังกล่าว ดังนั้นเมื่อสินค้าตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตทั้ง 9 ฉบับ เดินทางมาถึงกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์รวม 9 ฉบับ เพื่อขอรับเอกสารการรับสินค้าตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตแต่ละฉบับไปก่อนโดยยังมิได้ชำระเงินโดยมีข้อสัญญาว่า จำเลยที่ 1 จะชำระเงินตามตั๋วแลกเงินที่ออกไว้ในการนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.25, 14.25, 15, 14.50, 15.25, 15.25, 15.50, 15.50 และ15.75 ต่อปี สัญญาทรัสต์รีซีทจึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งมีความหมายว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาทรัสต์รีซีท จำเลยที่ 1 ย่อมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตทั้ง 9 ฉบับตามอัตราดังกล่าวเท่านั้นแต่ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา คือ ผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์กำหนดไว้นับตั้งแต่เวลาที่สินค้ามาถึงกรุงเทพมหานครถึงวันที่ชำระเงิน เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงสุดในแต่ละช่วงเวลาของโจทก์แตกต่างกันตามประกาศของโจทก์แต่ละฉบับ จำเลยที่ 1 ก็ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ประกาศไว้ในช่วงเวลาที่ผิดนัดของสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับ กรณีไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตของจำเลยที่ 1ที่โจทก์จะต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบแต่อย่างใด แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องถึงอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาไว้ชัดเจน แต่ในคำฟ้องได้มีการคำนวณดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัดของหนี้แต่ละจำนวนจนถึงวันฟ้อง โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดของหนี้แต่ละจำนวนถึงวันที่ 8 กันยายน 2540 และตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2540 ถึงวันที่3 ธันวาคม 2540 อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2540 ถึงวันที่ 1 เมษายน2541 อัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี และตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2541 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม2541 ซึ่งเป็นวันฟ้อง คิดอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี โดยได้แนบสำเนาประกาศธนาคารโจทก์ เรื่อง กำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดหลายฉบับ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดขั้นสูงสุดของธนาคารโจทก์ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2538 ถึงวันที่8 กันยายน 2538 กำหนดไม่เกินร้อยละ 18 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2538 ถึงวันที่3 ธันวาคม 2540 กำหนดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2540 ถึงวันที่1 เมษายน 2541 กำหนดไม่เกินร้อยละ 19.5 ต่อปี และตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2541ถึงวันฟ้อง กำหนดไม่เกินร้อยละ 19.75 ต่อปี และในชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบโดยอ้างส่งสำเนาประกาศ เรื่อง กำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดของธนาคารโจทก์ระหว่างวันที่ 10มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 รวม 26 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.141 ถึงจ.166 ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตรงกันกับช่วงเวลาที่โจทก์คิดคำนวณมาในฟ้องดังนั้น คำฟ้องและพยานหลักฐานของโจทก์จึงชัดเจนเพียงพอที่จะกำหนดดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดได้และตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต 9 ฉบับมีข้อความทำนองเดียวกันในข้อ 7 ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่กำหนดโดยธนาคารโจทก์ นับจากวันที่สินค้ามาถึงกรุงเทพมหานครถึงวันที่ชำระเงินตามจำนวนดังกล่าวนั้น ไม่ได้ระบุจำกัดว่าให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดในวันที่มีการผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น จึงหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่มีได้หลายอัตราตลอดช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ชำระหนี้ได้ ประกอบกับในช่วงปี 2537 และ 2538 ที่มีการทำสัญญากันนี้ก็ปรากฏว่าโจทก์ประกาศปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งตามประกาศในเอกสารหมาย จ.138 ถึง จ.154 ซึ่งก็สอดคล้องกับการที่สัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตแต่ละฉบับที่ทำสัญญาในช่วงเวลาต่าง ๆ กันก็คิดดอกเบี้ยในอัตราแตกต่างกันจึงเห็นได้ว่าสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเจตนาให้คิดดอกเบี้ยปรับเปลี่ยนลอยตัวได้ อย่างไรก็ตามการที่สัญญาดังกล่าวมีข้อสัญญาให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์กำหนดไว้ได้ ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา คือผิดสัญญา ดังนั้น เงินค่าดอกเบี้ยส่วนที่สูงกว่าที่กำหนดไว้เดิมจึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เห็นว่า ดอกเบี้ยผิดนัดอัตราต่าง ๆอันเป็นเบี้ยปรับที่โจทก์เรียกร้องมาในคำฟ้องเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป เห็นสมควรกำหนดเบี้ยปรับให้จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์โดยกำหนดให้เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกจากลูกค้าทั่วไปตามประกาศ เรื่อง กำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดของโจทก์บวก 0.25 โดยปรับเปลี่ยนขึ้นลงแปรผันตามอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกจากลูกค้าทั่วไปตามประกาศของโจทก์ดังกล่าวที่ประกาศไว้แล้วตามเอกสารหมาย จ.146 ถึง 153และที่จะประกาศต่อไปหลังวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดและไม่เกินร้อยละ 19.75 ต่อปี ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ และให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงินรวม 5,355,092.24 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า เงินค่าอากร ค่าเทเล็กซ์และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำนวน64,846.25 บาท ที่โจทก์หักออกจากบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 ไปแล้ว ต้องนำไปหักออกจากต้นเงิน 9,766,590.01 บาทก่อนด้วยนั้น เห็นว่า เงินค่าอากร ค่าเทเล็กซ์และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำนวน 64,846.25 บาท เป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่โจทก์ตามสัญญาต่างหากนอกเหนือจากหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตทั้ง 9 ฉบับจำนวน9,766,590.01 บาท ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่นำเงินจำนวน 64,846.25 บาท ไปหักออกจากต้นเงินจำนวน 9,766,590.01 บาทนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 476,809.40 บาท 798,012 บาท 578,539 บาท 2,510,220 บาท2,856,568 บาท 180,604.06 บาท 854,283.90 บาท 298,246.65 บาท และ1,213,307 บาท นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2538 วันที่ 29 เมษายน 2538 วันที่ 22กรกฎาคม 2538 วันที่ 9 พฤษภาคม 2538 วันที่ 16 สิงหาคม 2538 วันที่ 6 ตุลาคม2538 วันที่ 9 มกราคม 2539 วันที่ 7 ธันวาคม 2538 และวันที่ 9 มกราคม 2539 ตามลำดับ ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยทั่วไปตามประกาศเรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดของโจทก์บวก 0.25 โดยปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงแปรผันตามอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปตามประกาศของโจทก์ดังกล่าวที่ประกาศไว้แล้วก่อนฟ้องและที่จะประกาศให้มีผลบังคับต่อไปหลังวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดและไม่เกินร้อยละ 19.75 ต่อปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share