คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3173/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์พูดกับมัคคุเทศก์ว่า “แขกเลวๆ อย่างนี้อย่าพามาที่นี่เลย” แม้ถ้อยคำที่โจทก์ใช้จะเป็นถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมแต่โจทก์ได้กล่าวไปด้วยอารมณ์ไม่พอใจในพฤติกรรมที่ไม่สมควรของบุตรแขกชาวตะวันออกกลางโดยไม่ได้มีเจตนาจะทำให้โรงแรมจำเลยเสียหายหรือทำไปโดยเล็งเห็นถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่จำเลย และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายตามที่จำเลยคาดการณ์ กรณีจึงใช่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงและไม่ใช่เป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเสียหาย ตามมาตรา 119 (4) แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานยกกระเป๋าของโรงแรมจำเลยจะต้องทำดีที่สุดในการรักษาชื่อเสียงของโรงแรม โจทก์ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวเท่ากับโจทก์ขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุ ดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยได้มีคำสั่งพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม ถึงวันที่ 2 กันยายน 2543 รวม 5 วัน เพื่อสอบสวนความผิด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุให้จำเลยจ่ายเงินแก่ลูกจ้างระหว่างพักงาน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินในระหว่างพักงาน 5 วัน ดังกล่าว ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้าง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 116

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๙๒,๐๐๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๙,๒๐๐ บาท ค่าจ้างระหว่างพักงาน ๑,๕๓๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในสภาพการจ้างที่ไม่ต่ำกว่าเดิมโดยนับอายุงาน ต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นรายเดือน ๆ ละ ๙,๒๐๐ บาท นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์ กลับเข้าทำงานตามเดิม หรือให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอายุงานคูณด้วยอัตราค่าจ้างสุดท้ายเป็นเงินจำนวน ๒๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวทั้งหมด นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย และปฏิบัติฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีคำสั่ง เลิกจ้างโจทก์ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๒) และ (๔) โดยจำเลยไม่จำต้องตักเตือนก่อน และเมื่อเป็นความผิดร้ายแรง จำเลยก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการลงโทษตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงสภาพการจ้างปี ๒๕๔๒ และ ๒๕๔๓ ข้อ ๒๕.๔ จำเลยได้แจ้งสาเหตุที่มีการเลิกจ้าง แก่โจทก์ไว้ในหนังสือเลิกจ้างอย่างชัดเจน และจำเลยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ด้วย การสั่งพักงานและ สั่งเลิกจ้างโจทก์ จำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อตกลงสภาพการจ้างของจำเลยและได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว จึงไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๙๒,๐๐๐ บาท ค่าจ้างระหว่างพักงาน ๑,๕๓๓ บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๕๕,๒๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงและจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๓ เวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกา ระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานขนกระเป๋าในโรงแรมของจำเลย มัคคุเทศก์ของบริษัทดีทแฮล์ม แทร็ฟเวล จำกัด ได้นำรถตู้มารับแขกกลุ่มหนึ่ง โจทก์ได้พูดกับมัคคุเทศก์ดังกล่าวว่า “แขกเลว ๆ อย่างนี้อย่าพามาที่นี่เลย” สาเหตุที่โจทก์ใช้คำพูดลักษณะนี้ก็เพราะแขกและเด็ก ๆ กลุ่มดังกล่าวเป็นชาวตะวันออกกลาง และเด็ก ๆ ซุกซนมาก ขณะรอรถได้ใช้ก้อนหินขว้างปานกเป็ดน้ำและปลาในบ่อ โจทก์ได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้วไม่เชื่อฟัง ซึ่งโจทก์เคยได้รับคำแนะนำจากหัวหน้างานโดยตรงว่า ถ้ามีแขกหรือบุตรของแขกกระทำในลักษณะเช่นนี้ให้เป็นไปแจ้งต่อมัคคุเทศก์ได้โดยตรงตามบันทึกคำให้การของโจทก์เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข ๘ ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ต้องให้การบริการแขกอย่างดีที่สุด พนักงานของโรงแรมต้องพูดจาสุภาพและแสดงกิริยามารยาทด้วยความอ่อนน้อมต่อแขกหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เห็นว่า การะทำของโจทก์ที่ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมกับมัคคุเทศก์ที่มารับแขก ถือได้ว่าโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ ๘ วรรคท้าย แล้ว แต่การที่โจทก์ใช้คำพูดดังกล่าวก็สืบเนื่องมาจากบุตรแขกชาวตะวันออกกลางใช้ก้อนหินขว้างปานกเป็ดน้ำและปลาในบ่อของโรงแรม โจทก์ได้ว่ากล่าวตักเตือนก็ไม่เชื่อฟัง แม้ถ้อยคำที่โจทก์ใช้จะเป็นถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม แต่โจทก์ได้กล่าวไปด้วยอารมณ์ไม่พอใจในพฤติกรรมที่ไม่สมควรของบุตรแขกชาวตะวันออกกลางโดยไม่ได้มีเจตนาจะทำให้จำเลยเสียหายหรือทำไปโดยเล็งเห็นถึงความเสียหายอาจจะเกิดขึ้นแก่จำเลย และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายตามที่จำเลยคาดการณ์ กรณีจึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงและไม่ใช่เป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเสียหาย เมื่อการกระทำของโจทก์มิใช่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในกรณีร้ายแรง ตามมาตรา ๑๑๙ (๔) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จำเลยจึงต้องจ่าย ค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสองว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นพนักงานยกกระเป๋าของโรงแรมระดับห้าดาวซึ่งมีหน้าที่หลักตามข้อบังคับการทำงานข้อ ๑๙ ว่าต้องทำดีที่สุดในการรักษาชื่อเสียงของโรงแรมจำเลย การที่โจทก์ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมกับมัคคุเทศก์ที่มารับแขกอันเป็นลูกค้าของโรงแรมนั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเท่ากับโจทก์ขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในระหว่างพักงานให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างทำการสอบสวนลูกจ้างซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ห้ามมิให้นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างในระหว่างการสอบสวนดังกล่าว เว้นแต่จะมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้อำนาจนายจ้างสั่งพักงานได้ลูกจ้างได้…” และวรรคสองบัญญัติว่า “ในระหว่างการพักงานตามวรรคหนึ่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือตามที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกันไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งนี้อัตราดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนถูกสั่งพักงาน” ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้มีคำสั่งพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๒๙ สิงหาคม ถึงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๓ รวม ๕ วัน เพื่อสอบสวนความผิด ปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข ๗ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุให้จำเลยจ่ายเงินแก่ลูกจ้างระหว่างพักงานโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินในระหว่างพักงาน ๕ วัน ดังกล่าวไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๙,๒๐๐ บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างพักงานเป็นเงิน ๗๖๖.๖๖ บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ได้รับเงินในส่วนนี้เป็นเงิน ๑,๑๕๓ บาท จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในระหว่างพักงานจำนวน ๗๖๖.๖๖ บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ต้องจ่าย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share