คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9546/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์บุคคลใดหรือมีคำพิพากษาให้บุคคลใดเป็นบุคคลล้มละลายนั้นเกี่ยวกับสิทธิและสภาพของบุคคล บุคคลผู้ล้มละลายจะจัดการทรัพย์สินได้หรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย กฎหมายล้มละลายเพียงบัญญัติมิให้บุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเองหรือก่อหนี้สินขึ้นอีกในระหว่างพิทักษ์ทรัพย์อยู่ ถ้าหากไปก่อหนี้สินขึ้นในระหว่างถูกพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้จะถือเอามูลหนี้นั้นไปขอรับชำระหนี้ไม่ได้ แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้หนี้สินนั้นสูญสิ้นไป โดยเฉพาะกฎหมายล้มละลายมิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย จำเลยที่ 2 กระทำผิดโดยสั่งจ่ายเช็ครวม 4 ฉบับ ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2534 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2534 ซึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 จำนวน 1 ฉบับ และเมื่อวันที่13 มิถุนายน 2534 จำนวน 3 ฉบับ แต่จำเลยที่ 1ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2535การกระทำผิดได้เกิดขึ้นก่อนจะถูกพิทักษ์ทรัพย์ไม่เกี่ยวข้องกับการถูกพิทักษ์ทรัพย์ในภายหลังแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 4 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91
ระหว่างพิจารณา บริษัทนันชัย (1975) จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นความผิด 4 กระทงเรียงกระทงลงโทษ เนื่องจากจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมบ้างแล้วจึงลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 25,000 บาท รวม 4 กระทงปรับ 100,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 เดือนรวม 4 กระทง เป็นเวลา 8 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายมีว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จำเลยที่ 2 จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้หรือไม่ เห็นว่า กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์บุคคลใดหรือมีคำพิพากษาให้บุคคลใดเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นเกี่ยวกับสิทธิและสภาพของบุคคล บุคคลผู้ล้มละลายจะจัดการทรัพย์สินได้หรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 2 ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ปัญหาที่จำเลยที่ 2 ได้อุทธรณ์เป็นประเด็นไว้ว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จะมีผลให้มูลหนี้ตามเช็คคดีนี้สิ้นผลผูกพันไปด้วยหรือไม่ เนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ แต่มีหลักฐานปรากฏอยู่ในสำนวนแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนอีก เห็นว่าตามหลักกฎหมายล้มละลายเพียงบัญญัติมิให้บุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเองหรือก่อหนี้สินขึ้นอีกในระหว่างพิทักษ์ทรัพย์อยู่ ถ้าหากไปก่อหนี้สินขึ้นในระหว่างถูกพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้จะถือเอามูลหนี้นั้นไปขอรับชำระหนี้ไม่ได้ แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้หนี้สินนั้นสูญสิ้นไป โดยเฉพาะกฎหมายล้มละลายมิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย ทั้งปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่ 2กระทำผิดโดยสั่งจ่ายเช็ครวม 4 ฉบับ ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2534ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2534 ซึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 จำนวน 1 ฉบับ และเมื่อวันที่13 มิถุนายน 2534 จำนวน 3 ฉบับ แต่จำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2535 การกระทำผิดได้เกิดขึ้นก่อนจะถูกพิทักษ์ทรัพย์ ไม่เกี่ยวข้องกับการถูกพิทักษ์ทรัพย์ในภายหลังแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share