แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อโดยอยู่ในระหว่างโจทก์เช่าซื้อทรัพย์ดังกล่าวกับบ. ก็ตามแต่ตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวโจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ก่อนที่โจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่1ตามสัญญาสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1จึงมีผลใช้บังคับได้ เมื่อทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายสัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา567ส่วนค่าเช่าซื้อล่วงหน้าทั้งหมดซึ่งจำเลยที่1จ่ายเป็นเงินดาวน์ส่วนหนึ่งและทำสัญญากู้ให้ไว้แก่โจทก์อีกส่วนหนึ่งจึงเป็นเงินที่โจทก์ได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้หรือโดยเหตุที่มิได้มีได้เป็นขึ้นและเป็นทางให้จำเลยที่1เสียเปรียบหากทรัพย์ที่เช่าซื้อมิได้สูญหายเพราะความผิดของจำเลยที่1หรือโจทก์นำเงินดาวน์มาหักเป็นค่าเช่าซื้อก่อนสัญญาเช่าซื้อระงับโจทก์ก็ต้องคืนให้แก่จำเลยที่1 เมื่อจำเลยที่1ไม่ต้องรับผิดจำเลยที่2ผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่2ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ 200,000 บาทดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระตามสัญญาแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน240,000 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 71-4199 กรุงเทพมหานคร และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 71-4736 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ราคา1,870,000 บาท ในวันทำสัญญาจะต้องชำระเงินดาวน์ 500,000 บาทแต่จำเลยที่ 1 ชำระเพียง 300,000 บาทส่วนเงินดาวน์อีก 200,000 บาทจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้มอบให้โจทก์ไว้ โดยโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เป็นการผิดกฎหมาย การเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกดังกล่าวจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เดือนละ 37,675 บาทโดยโจทก์หักเงินค่าเช่าซื้อและดอกเบี้ยจากเงินรายได้ที่ได้จากการที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์บรรทุกแล่นร่วมรับจ้างในการงานร่วมกับโจทก์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2533 โจทก์สมคบกับคนร้ายลักรถยนต์บรรทุกกับรถพ่วงไป จำเลยที่ 1 ติดต่อขอรถยนต์บรรทุกที่ถูกลักไปคืนโจทก์ไม่ยอมและมาฟ้องเรียกเงินกู้เป็นคดีนี้เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตนอกจากนั้นโจทก์ยังเรียกเงินค่าปรับเงินกู้จากจำเลยที่ 1อีก 2,933 บาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง ในการเช่าซื้อจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้โจทก์เป็นค่าเงินดาวน์ 300,000 บาทและทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้ 200,000 บาท เงินค่างวด เงินค่าดอกเบี้ยค่าปรับดอกเบี้ย 2,933 บาท รวมเป็นเงินที่ชำระให้โจทก์ไปแล้ว470,633 (ที่ถูกเป็น 469,633 บาท) การที่โจทก์สมคบกับคนร้ายลักรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงไป ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย จำเลยที่ 1มีรายได้จากการใช้รถยนต์บรรทุกและรถพ่วงไม่น้อยกว่าเดือนละ9,813.75 บาท แต่ขอคิดค่าขาดประโยชน์เพียงเดือนละ 9,000 บาทขอให้บังคับโจทก์คืนเงินดาวน์ 300,000 บาทเงินค่างวด 4 งวด150,700 บาท เงินค่าดอกเบี้ย 16,000 บาท เงินค่าปรับดอกเบี้ย2,933 บาท แก่จำเลยที่ 1 และใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1เป็นรายเดือนเดือนละ 9,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์คืนเงินจำนวน300,000 บาท ที่โจทก์รับไว้แก่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้ง ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2533 จนกว่าจะชำระ เสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง (วันที่ 26 พฤศจิกายน 2534) ไม่เกิน31,150 บาท ให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 71-4199 กรุงเทพมหานคร และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 71-4736 กรุงเทพมหานคร จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บุคคลัภย์ จำกัด ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2533 โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงดังกล่าวในราคา 1,870,000บาท โดยจำเลยที่ 1 จะต้องชำระเงินดาวน์ 500,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ชำระเพียง 300,000 บาท ส่วนอีก 200,000 บาท จำเลยที่ 1ทำหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ให้แก่โจทก์ไว้ ราคาค่าเช่าซื้อที่เหลือกำหนดผ่อนชำระ 60 เดือน จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินตามเอกสารหมาย จ.3 โจทก์มอบรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงแก่จำเลยที่ 1 ในวันเดียวกันต่อมาวันที่ 12พฤศจิกายน 2533 รถยนต์บรรทุกและรถพ่วงดังกล่าวสูญหายไปคดีมีปัญหาว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามสัญญากู้หรือไม่ และโจทก์จะต้องคืนเงินดาวน์แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 รับฟังได้ว่ามีการทำสัญญาเช่าซื้อเป็นหนังสือสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีผลใช้บังคับที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นโมฆะนั้นเห็นว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อทรัพย์ดังกล่าวจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บุคคลัภย์ จำกัด ตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย ล.8 ตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวโจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ก่อนที่โจทก์จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ให้แก่จำเลยที่ 1ตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังนี้ แม้ในขณะโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 โจทก์จะยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อก็ไม่เป็นโมฆะดังจำเลยที่ 1 ฎีกาสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีผลใช้บังคับ จำเลยที่ 1จึงผูกพันตามสัญญากู้ แต่เมื่อทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไป สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567เงินค่าเช่าซื้อล่วงหน้าทั้งหมดจำนวน 500,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1จ่ายให้แก่โจทก์เป็นเงินดาวน์ 300,000 บาท ส่วนหนึ่ง และทำเป็นสัญญากู้ให้ไว้แก่โจทก์ 200,000 บาท อีกส่วนหนึ่ง จึงเป็นเงินที่โจทก์ได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ หรือโดยเหตุซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้นและเป็นทางให้จำเลยที่ 1 เสียเปรียบโจทก์จึงต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 อีกทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฎด้วยว่า ทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเพราะความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ทั้งไม่ปรากฎว่าโจทก์นำเงินดาวน์จำนวน 300,000 บาทมาคิดหักเป็นค่าเช่าซื้อก่อนสัญญาเช่าซื้อระงับ ดังนี้ โจทก์จึงต้องคืนเงินดาวน์จำนวน 300,000 บาทแก่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้งและไม่อาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมายจ.2 ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2ผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) และ 247ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์คืนเงินดาวน์แก่จำเลยที่ 1 มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษากลับ ให้ บังคับคดี ตาม คำพิพากษา ศาลชั้นต้น