คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7216/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การโอนที่ดินที่ยังไม่มีใบจองก่อนเวลาที่ทางราชการจะออกใบจองโดยการส่งมอบการครอบครองไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายคือพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 8 วรรคสอง จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
การโอนที่ดินที่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วโดยการส่งมอบการครอบครองมิได้เป็นการโอนสิทธิครอบครองตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9 จึงไม่ตกเป็นโมฆะปัญหานี้จำเลยมิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247
ก่อนที่ทางราชการจะออกใบจอง น. โอนที่ดินที่ยังไม่มีใบจองให้ ส. เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ถือว่า น. แสดงเจตนาสละการยึดถือครอบครองอยู่เดิมให้แก่ ส. การครอบครองของ น. ย่อมสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 วรรคแรก ส. จึงได้ซึ่งสิทธิครอบครองที่ดิน เมื่อ ม. เข้ามาปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยในที่ดินที่ยังไม่มีใบจองที่ ส. มีสิทธิครอบครองโดยมิได้รับความยินยอมจาก ส. จึงเป็นการละเมิดต่อ ส. ส. มีสิทธิขับไล่ ม. และบริวารให้รื้อถอนบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างใด ๆ ออกไปจากที่ดินพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 ก. จำเลยเข้ามาบุกรุกปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของโจทก์ ขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมอุปกรณ์ออกไปจากที่ดินโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 2,000 บาท และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีกเดือนละ 2,000 บาท จนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย อีกทั้งฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยรื้อบ้านอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ติดกับตัวบ้าน ออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3540 ตำบลไร่น้อย อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และห้ามเกี่ยวข้อง ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 2,000 บาท และอีกเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายมีใจความว่าการที่นายหนูพันธ์โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีใบจอง (น.ส.2) ให้แก่โจทก์ (จำเลยใช้คำในฎีกาว่าตีใช้หนี้) เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 8 จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนั้น ข้อฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า ในเรื่องที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจองหรือที่ดินมีใบจอง (น.ส.2) นั้น ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 8 วรรคสองได้บัญญัติว่า “ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจอง แต่ยังไม่ได้รับรองจากนายอำเภอว่า ได้ทำประโยชน์แล้วผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไปไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก” แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่านายหนูพันธ์ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยการส่งมอบการครอบครองให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2530 ดังจะเห็นได้จากสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 ที่ระบุไว้ชัดแจ้งว่า นายหนูพันธ์ยอมรับว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ได้ยึดถือครอบครองมาแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2530 เป็นของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว นายหนูพันธ์และบริวารจะไม่เกี่ยวข้องอีกต่อไป จึงเป็นกรณีที่นายหนูพันธ์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่ปี 2530 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ทางราชการจะออกใบจอง (น.ส.2) ที่ดินพิพาทให้แก่นายหนูพันธ์ เพราะปรากฏตามสำเนาใบจอง (น.ส.2) เอกสารหมาย จ.1 ว่า ทางราชการเพิ่งออกใบจอง (น.ส.2) ที่ดินพิพาทให้แก่นายหนูพันธ์เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งถือได้ว่าขณะโอนที่ดินพิพาทโดยการส่งมอบการครอบครองระหว่างนายหนูพันธ์กับโจทก์นั้นที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ยังไม่มีใบจอง (น.ส.2) การโอนที่ดินพิพาทโดยการส่งมอบการครอบครองระหว่างนายหนูพันธ์กับโจทก์จึงไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายคือพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 มาตรา 8 วรรคสอง หาตกเป็นโมฆะดังที่จำเลยอ้างในฎีกาไม่ หรืออีกนัยหนึ่งไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น (มาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่) และศาลฎีกายังเห็นสมควรวินิจฉัยต่อไปว่าเมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่า ได้ทำประโยชน์แล้วการโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ของนายหนูพันธ์ (ซึ่งจำเลยใช้คำในฎีกาว่าตีใช้หนี้)จะขัดต่อพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9 ที่บัญญัติว่า”ที่ดินที่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่า ได้ทำประโยชน์แล้ว ให้โอนกันได้” ซึ่งหมายความว่าที่ดินที่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วจะโอนกันไม่ได้ หรือไม่ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาปัญหานี้แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 เห็นว่า การโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ของนายหนูพันธ์โดยการส่งมอบการครอบครองให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2530 ตลอดมาตามข้อเท็จจริงดังกล่าวมาข้างต้นนั้น กรณีเป็นเรื่องที่นายหนูพันธ์แสดงเจตนาสละการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทที่นายหนูพันธ์ยึดถือครอบครองอยู่เดิมให้แก่โจทก์ การครอบครองของนายหนูพันธ์ย่อมสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 วรรคแรกโจทก์จึงได้ ซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท กรณีมิใช่เป็นการโอนสิทธิครอบครองตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9 แต่อย่างใด การสละการยึดถือครอบครองในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายการโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ของนายหนูพันธ์โดยการส่งมอบการครอบครองจึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1378 ไม่ขัดต่อบทบัญญัติ มาตรา 9 ดังกล่าว จึงไม่ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกันส่วนข้อที่ที่ดินพิพาทมีข้อบังคับห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินนั้น ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าทางราชการเพิ่งออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินพิพาทให้แก่นายหนูพันธ์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม2536 เป็นเวลาภายหลังจากที่นายหนูพันธ์ได้สละหรือโอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไปแล้ว การโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ของนายหนูพันธ์โดยการส่งมอบครอบครองในกรณีคดีนี้มิได้กระทำภายในระยะเวลาห้ามโอนตามมาตรา 31แห่งประมวลกฎหมายที่ดินดังกล่าว จึงไม่ตกเป็นโมฆะดังที่จำเลยอ้างในฎีกาคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ข้อเท็จจริงไม่เหมือนกับคดีนี้ จากเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาคดีฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยเข้ามาปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทที่โจทก์มีสิทธิครอบครองโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิขับไล่จำเลยและบริวารให้รื้อถอนบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างใด ๆ ออกไปจากที่ดินพิพาทได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share