คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6401/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองเฉพาะในประเด็นที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนคำว่า”Kyuta” ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารและมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสองในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนคำว่า “Kyuta” ไว้กับสินค้าเคมีอาหารในจำพวกที่ 42 เดิมเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องในประเด็นที่ว่า ระหว่างปี 2529 ถึงปี 2542 จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการผลิตสินค้าเคมีอาหารออกจำหน่ายแก่ลูกค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าว่า “Kyuta” เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยมีลักษณะการบรรจุสินค้าเช่นเดียวกับสินค้าของโจทก์อันเป็นการลวงสาธารณชนให้เข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองอาศัยชื่อเสียงและยี่ห้อทางการค้าของโจทก์ที่แพร่หลายทั่วไปแล้วในวงการเคมีอาหารนั้น เป็นการอ้างว่าจำเลยทั้งสองลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสองว่าเป็นสินค้าของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “Kyuta” และเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 29 วรรคสอง และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 46 วรรคสอง ซึ่งศาลในคดีก่อนยังไม่ได้วินิจฉัยไว้ ที่โจทก์บรรยายฟ้องในคดีก่อนถึงการกระทำอันเป็นการลวงขายของจำเลยทั้งสอง ก็เพื่อเป็นเหตุผลแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยทั้งสองเท่านั้น มิได้ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำการลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสองว่าเป็นสินค้าของโจทก์และเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การลวงขายนั้นแต่อย่างใด ดังนี้ การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิใช่การรื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองอีกในประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันเป็นการฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 26 ประอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 148
การฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดฐานลวงขายของจำเลยทั้งสองต้องฟ้องบังคับภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำการลวงขายสินค้าตั้งแต่ปี 2529 ถึงที่ 2542 เป็นเวลาต่อเนื่องกันโดยโจทก์ขอคิดค่าเสียหายถึงวันที่ 24 มีนาคม 2542 อันเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้พึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ปี 2529 ตลอดมาจนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2542 แล้ว เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2543 จึงเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการทำละเมิดตั้งแต่ปี 2529 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2542 เกินกำหนดอายุความ 1 ปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในช่วงเวลาดังกล่าวของโจทก์ย่อมขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมสำหรับการละเมิดที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองทำการลวงขายในวันที่ 24 มีนาคม 2542 ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกร้องภายในอายุความ 1 ปี เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” อ่านว่า เคียวตะ คือเครื่องหมาย โดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2529 มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงการเคมีภัณฑ์ ประเภทเคมีอาหาร ต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “Kyuta” ต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้ากรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530 ในสินค้าจำพวกที่ 1 ทั้งจำพวก คือ เคมีวัตถุสำหรับใช้ในหัตถกรรม การถ่ายรูป หรือการค้นหาความรู้ทางฟิสิกส์และใช้เป็นยากันผุ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ โดยจำเลยที่ 2 ยังเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอฟ.เอ. อินเตอร์เนชั่นแนล และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” (อ่านว่า เคียวตะ) คือเครื่องหมาย ซึ่งได้รับจดทะเบียนเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2530 โดยใช้กับสินค้าจำพวกที่ 42 เดิม ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 (หรือจำพวกที่ 30 ใหม่ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534) คือ วัตถุที่ใช้เป็นอาหารหรือเป็นเครื่องปรุงอาหารโดยได้รับสิทธิมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด เอฟ.เอ. อินเตอร์เนชั่นแนล โดยมีจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีเป็นผู้ดำเนินการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นให้ ระหว่างปี 2529 ถึงปี 2542 จำเลยที่ 2 ทั้งในนามส่วนตัวและในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอฟ.เอ. อินเตอร์เนชั่นแนล และในนามของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเวลาต่อเนื่องกันด้วยการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าผู้ผลิตอาหารและในวงการเคมีอาหารทั่วไป โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ที่เหมือนกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนไว้แล้ว แต่สินค้าที่จำเลยที่ 2 จำหน่ายนั้นมิใช่สินค้าในจำพวกที่ 42 เดิม (หรือจำพวกที่ 30 ใหม่) ที่จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว โดยมีลักษณะการบรรจุสินค้าเช่นเดียวกับสินค้าของโจทก์ อันเป็นการลวงสาธารณชนให้เข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองอาศัยชื่อเสียงและยี่ห้อทางการค้าของโจทก์ที่แพร่หลายทั่วไปอยู่แล้วในวงการเคมีอาหาร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 365,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ เพราะโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ท.ส.11/2539 มีสาระสำคัญว่าจำเลยทั้งสองได้ละเมิดต่อโจทก์โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จนทำให้สาธารณชนหลงผิด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสอง ซึ่งศาลแพ่งวินิจฉัยประเด็นพิพาทข้อหนึ่งว่า จำเลยทั้งสองผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่แพร่หลายในวงการเคมีอาหารจนทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดคิดว่าเครื่องหมายการค้าและสินค้าดังกล่าวมาจากโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และคดีนี้โจทก์ฟ้องโดยมีสาระสำคัญว่าจำเลยทั้งสองได้จงใจร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จนทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้จึงเป็นประเด็นเดียวกับคดีเดิม ซึ่งโจทก์สามารถเรียกค่าเสียหายได้ในคดีเดิมแต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องใหม่ จึงต้องห้ามตามนัยมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจริงตามคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ท.ส.11/2539 ของศาลแพ่ง ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2541 เอกสารหมาย จ.6 หรือไม่ ปัญหานี้ปรากฏว่าคดีหมายเลขแดงที่ ท.ส.11/2539 ของศาลแพ่ง ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2541 เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” อ่านว่า เคียวตะ คือเครื่องหมาย โดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาตั้งแต่ พ.ศ.2529 เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในวงการเคมีอาหาร ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อกรมทะเบียนการค้าและได้รับการจดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530 ในสินค้าจำพวกที่ 1 เดิม ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ทั้งจำพวก คือ เคมีวัตถุสำหรับใช้ในหัตถกรรม การถ่ายรูปหรือการค้นหาความรู้ทางฟิสิกส์และใช้เป็นยากันผุเสีย ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 108199 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 2 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัด เอฟ.เอ. อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งได้จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดและเสร็จสิ้นการชำระบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนคำว่า “Kyuta” อ่านว่า เคียวตะ คือเครื่องหมาย ตามทะเบียนเลขที่ 113008 โดยได้รับการจดทะเบียนไว้ในสินค้าจำพวกที่ 42 เดิม คือ วัตถุที่ใช้เป็นอาหารหรือเป็นเครื่องปรุงอาหาร โดยได้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด เอฟ.เอ. อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีเป็นผู้ดำเนินการโอนให้ ระหว่างเดือนมีนาคม 2530 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 2 ทั้งในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอฟ.เอ. อินเตอร์เนชั่นแนล ก่อนจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด และในนามของจำเลยที่ 1 ได้ละเมิดต่อโจทก์เป็นเวลาต่อเนื่องกันโดยผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในวงการเคมีอาหารโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ที่เหมือนกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ แต่สินค้าที่จำหน่ายนั้นมิใช่สินค้าในจำพวกที่ 42 เดิม ที่จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนไว้ แต่กลับเป็นสินค้าจำพวกที่ 1 เดิม ที่โจทก์จดทะเบียนไว้สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่แพร่หลายทั่วไปอยู่แล้วในวงการเคมีอาหาร ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบดีเพราะเคยทำงานอยู่ที่บริษัท เอฟ.เอ็น.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์ บริษัทดังกล่าวและบริษัทโจทก์มีกรรมการผู้จัดการคนเดียวกันคือนายสุทธา การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการที่มิได้ตั้งใจโดยสุจริตที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ และตามความจริงก็ไม่เคยมีการใช้เครื่องหมายการค้านั้นโดยสุจริตสำหรับสินค้าดังกล่าวเลย และในระหว่าง 3 ปี ก่อนวันฟ้อง จำเลยทั้งสองมิได้มีการใช้เครื่องหมายการค้านั้นโดยสุจริตสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ และเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทั้งสองใช้นั้นก็เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดคิดว่าสินค้าที่จำเลยทั้งสองจำหน่ายเป็นสินค้าของโจทก์ และหลงผิดว่าแหล่งกำเนิดสินค้าดังกล่าวมาจากโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงร้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ยกคำร้องของโจทก์ โดยแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2537 โดยให้เหตุผลว่า โจทก์มิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าฟังข้อเท็จจริงทำนองว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าตรงกับที่ได้จดทะเบียนไว้ และโจทก์มิได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวกที่ 42 เดิม ซึ่งโจทก์ไม่เห็นด้วย โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ 113008 เห็นว่า การฟ้องในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2541 เป็นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียเพราะจำเลยทั้งสองผลิตสินค้าประเภทเคมีอาหารเพื่อจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” เหมือนและคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และอาศัยชื่อเสียงและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่แพร่หลายทั่วไปในวงการค้าเคมีอาหาร ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดคิดว่าสินค้าที่จำเลยทั้งสองจำหน่ายเป็นสินค้าของโจทก์และหลงผิดว่าแหล่งกำเนิดสินค้าดังกล่าวมาจากโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารมาก่อนจำเลยทั้งสอง และมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสองในเครื่องหมายการค้า ที่จำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าเคมีอาหารในจำพวกที่ 42 เดิม ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ตามทะเบียนเลขที่ 113008 จึงขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 113008 ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว โดยอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติมาตรา 41 (1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ ซึ่งศาลฎีกาในคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” กับสินค้าเคมีอาหารซึ่งเป็นสินค้าในจำพวกที่ 42 เดิม มาก่อนจำเลยทั้งสองหลายปี แม้โจทก์จะมิได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ของโจทก์ไว้กับสินค้าในจำพวกที่ 42 ดังกล่าว โจทก์ก็มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้า ของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวกที่ 42 เดิม และใช้กับสินค้าเคมีอาหารดีกว่าจำเลยทั้งสอง แม้คำฟ้องในคดีนี้และคำฟ้องในคดีก่อนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2541 โจทก์จะเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ของโจทก์ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารเป็นสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนก็ตามแต่ศาลฎีกาในคดีดังกล่าวก็ได้วินิจฉัยไว้ถูกต้องแล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าเคมีอาหาร เพราะโจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ไว้กับสินค้าจำพวกที่ 1 เดิม เท่านั้น มิได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไว้กับสินค้าเคมีอาหารซึ่งเป็นสินค้าในจำพวกที่ 42 เดิม ด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2541 ผูกพันโจกท์และจำเลยทั้งสองเฉพาะในประเด็นที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนคำว่า “Kyuta” ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียน คำว่า “Kyuta” ไว้กับสินค้าเคมีอาหารในจำพวกที่ 42 เดิม ของจำเลยที่ 1 ดีกว่าจำเลยทั้งสองเท่านั้น ส่วนประเด็นที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้โจทก์อ้างว่า ระหว่างปี 2529 ถึงปี 2542 จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการผลิตสินค้าเคมีอาหารออกจำหน่ายแก่ลูกค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “”Kyuta” เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยมีลักษณะการบรรจุสินค้าเช่นเดียวกับสินค้าของโจทก์อันเป็นการลวงสาธารณชนให้เข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์โดยจำเลยทั้งสองอาศัยชื่อเสียงและยี่ห้อทางการค้าของโจทก์ที่แพร่หลายทั่วไปแล้วในวงการเคมีอาหารนั้น เป็นการอ้างว่าจำเลยทั้งสองทำการลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสองว่าเป็นสินค้าของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” และเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 29 วรรคสอง และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 46 วรรคสอง ซึ่งศาลในคดีก่อนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2541 ยังมิได้วินิจฉัยไว้ ที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ในคดีก่อนดังกล่าวถึงการกระทำอันเป็นการลวงขายของจำเลยทั้งสองก็เพื่อเป็นเหตุผลแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้า คำว่า “Kyuta” ดีกว่าจำเลยทั้งสองเท่านั้น มิได้ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำการลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสองว่าเป็นสินค้าของโจทก์และเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การลวงขายนั้นแต่อย่างใด ดังนี้ แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกาที่ 7431/2541 ก็ตาม แต่โจทก์มิได้รื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองอีกในประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารดีกว่าจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ฐานลวงขายซึ่งศาลในคดีก่อนดังกล่าวยังมิได้วินิจฉัยไว้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสองว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือไม่ การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิใช่การรื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2541 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดไว้แต่ยังมิได้วินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 หรือไม่ และจำเลยทั้งสองกระทำการลวงขายและต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อการลวงขายนั้นหรือไม่ เพียงใด ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองได้นำสืบพยานหลักฐานมาแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ย้อนสำนวน ในปัญหาว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า ระหว่างปี 2529 ถึงปี 2542 จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเวลาต่อเนื่องกันโดยทำการลวงขายสินค้าเคมีอาหารของจำเลยทั้งสองที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่าเป็นสินค้าเคมีอาหารของโจทก์ในราคาที่ต่ำกว่าสินค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องสูญเสียลูกค้าและรายได้ทางการค้าปกติไปเป็นจำนวนมากเป็นเวลานาน 10 ปีเศษ คือตั้งแต่ปี 2529 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2542 อันเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2541 โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ในอัตราปีละ 36,000,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี คิดเป็นเงิน 360,000,000 บาท ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงจำนวน 3,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการสืบหาแหล่งผลิตและเก็บสินค้าของจำเลยทั้งสองรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาแก่จำเลยทั้งสองจำนวน 1,000,000 บาท และค่าเวลาที่โจทก์และพนักงานบริษัทโจทก์ต้องทำงานเพิ่มขึ้นในการชี้แจงและทำความเข้าใจกับสาธารณชนหรือลูกค้าตลอดจนการสาธิตให้ปรากฏถึงความแตกต่างระหว่างสินค้าของโจทก์และสินค้าของจำเลยทั้งสอง รวมทั้งการทำงานด้านการตลาดที่ยากขึ้นเพราะต้องแข่งขันกับสินค้าของจำเลยทั้งสองที่ปลอมและเลียนแบบสินค้าของโจทก์จำนวน 1,000,000 บาท รวมความเสียหายเพราะการลวงขายของจำเลยทั้งสองเป็นเงินทั้งสิ้น 365,000,000 บาท โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ซึ่งยังมิได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าเคมีอาหารย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดฐานลวงขายของจำเลยทั้งสองได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 29 วรรคสอง และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 46 วรรคสอง โดยต้องฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องยืนยันว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดต่อโจทก์โดยทำการลวงขายสินค้าดังกล่าวตั้งแต่ปี 2529 ถึงปี 2542 เป็นเวลาต่อเนื่องกันโดยโจทก์ขอคิดค่าเสียหายถึงวันที่ 24 มีนาคม 2542 อันเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2541 แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวตั้งแต่ปี 2529 ตลอดมาจนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2542 แล้ว ดังนี้ เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2543 จึงเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการละเมิดตั้งแต่ปี 2529 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2542 เกินกำหนดอายุความ 1 ปี ดังกล่าวแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสำหรับการละเมิดของจำเลยทั้งสองระหว่างปี 2529 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2542 ของโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนสำหรับการละเมิด ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองทำการลวงขายในวันที่ 24 มีนาคม 2542 ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปี ดังกล่าวเท่านั้น
ปัญหาว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการลวงขายและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อการลวงขายในวันที่ 24 มีนาคม 2542 หรือไม่ เพียงใด ปัญหานี้โจทก์มีนายสุทธาหรือภัทรกิจกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งใช้กับสินค้าเคมีอาหารมาตั้งแต่ปี 2529 โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530 ในสินค้าจำพวกที่ 1 เดิม ทั้งจำพวก คือเคมีวัตถุสำหรับใช้ในหัตถกรรม การถ่ายรูป หรือการค้นหาความรู้ทางฟิสิกส์และใช้เป็นยากันผุ ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 108199 เอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 และเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอฟ.เอ. อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งได้จดทะเบียนเลิกห้างและเสร็จการชำระบัญชีไปแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2530 ในสินค้าจำพวกที่ 42 เดิม คือ วัตถุที่ใช้เป็นอาหารหรือเป็นเครื่องปรุงอาหารตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 113008 เอกสารหมาย จ.5 โดยได้รับโอนสิทธิมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีห้างนั้นเป็นผู้ดำเนินการโอนให้ พยานรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน เดิมเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าของพยาน ซึ่งต่อมาพยานประกอบกิจการในนามบริษัทโจทก์ โดยมีบริษัท เอฟ.เอ็น.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งพยานจัดตั้งขึ้นมาอีกบริษัทหนึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์มีพยานเป็นกรรมการผู้จัดการเช่นเดียวกันทำหน้าที่เป็นผู้จำหน่ายสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ได้สมัครงานเข้ามาเป็นลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานขาย มีหน้าที่ขายสินค้าและดูแลลูกค้าของโจทก์และบริษัท เอฟ.เอ็น.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งแต่ปี 2529 จำเลยที่ 2 ได้เรียนรู้สูตรเคมีภัณฑ์ของโจทก์และได้แอบผลิตสินค้าเลียนแบบสินค้าของโจทก์โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวออกจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในวงการเคมีอาหารที่จำเลยที่ 2 ดูแลอยู่ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้กระทำการดังกล่าวเรื่อยมา เมื่อลาออกจากบริษัทในเครือของโจทก์โดยกระทำการในนามส่วนตัวและในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอฟ.เอ. อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งต่อมาได้เลิกห้าง และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำเลยที่ 1 โดยได้ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าผู้ผลิตอาหารในวงการเคมีอาหารทั่วไปโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2542 โจทก์เคยร้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ของจำเลยที่ 1 ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แต่คณะกรรมการพิจารณาแล้วให้ยกคำร้องของโจทก์โดยแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2537 โดยเห็นว่าโจทก์มิใช่ผู้เสียหาย และจำเลยที่ 1 ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” กับสินค้าที่ตรงกับที่ได้รับการจดทะเบียนไว้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ของจำเลยที่ 1 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2539 ให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ตามคดีหมายเลขแดงที่ ท.ส.11/2539 จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน โดยมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2542 จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษา การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสินค้าของโจทก์ สินค้าของจำเลยทั้งสอง 1 กิโลกรัมเจือจางกว่าและราคาถูกกว่าสินค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องสูญเสียลูกค้าไปจำนวนมาก ตามบัญชีลูกค้าเอกสารหมาย จ.8 โจทก์ต้องสูญเสียรายได้ประมาณเดือนละ 10,000,000 บาท ปัจจุบันโจทก์มียอดขายเพียงประมาณ 3,000,000 บาท ตามบัญชีเปรียบเทียบรายรับต่อเดือนในอดีตและปัจจุบันและผลต่างเอกสารหมาย จ.9 โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้อัตราเดือนละ 3,000,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2529 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2542 อันเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2541 เป็นเงินทั้งสิ้น 360,000,000 บาท ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงจำนวน 3,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการสืบหาแหล่งผลิตและเก็บสินค้าของจำเลยทั้งสอง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองทั้งในทางแพ่งและทางอาญาจำนวน 1,000,000 บาท และค่าเวลาที่โจทก์และพนักงานบริษัทโจทก์ต้องทำงานเพิ่มในการชี้แจงและทำความเข้าใจกับสาธารณชนและลูกค้า การสาธิตสินค้า รวมทั้งการทำงานด้านการตลาดที่ยากขึ้นเพราะต้องแข่งขันกับสินค้าของจำเลยทั้งสองที่ปลอมและเลียนแบบสินค้าของโจทก์จำนวน 1,000,000 บาท และโจทก์มีนายอำนวยพนักงานฝ่ายขายของตัวแทนทางการค้าบริษัทโจทก์และบริษัทในเครือของโจทก์เบิกความสนับสนุนประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่าพยานเห็นสินค้าเคมีอาหารภายใต้เครื่องหมายการค้า ของโจทก์มาตั้งแต่ปี 2524 และเมื่อประมาณปี 2529 พยานเริ่มเห็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า และคำว่า “SHINOKU CHEM.,” คล้ายกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ตามภาพถ่ายบรรจุภัณฑ์และสินค้าหมาย จ.14 และ จ.15 ในขณะนั้นพยานเข้าใจว่าสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเป็นสินค้าของโจทก์หรือของบริษัทในเครือโจทก์ เพราะเห็นมีชื่อบริษัทคล้ายกัน คือ เอฟ.เอ. และ เอฟ.เอ็น.ซี. และมีบรรจุภัณฑ์ลักษณะเหมือนกัน พยานเห็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นแพร่หลายอยู่ในตลาดตั้งแต่ปี 2529 ดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปี 2542 หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายการค้าเป็นรูปแมวน้ำ 4 ตัว เล่นลูกโลก คือเครื่องหมาย ตามตัวอย่างบรรจุภัณฑ์วัตถุพยานหมาย จ.16 เมื่อพยานมาเริ่มขายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ พยานทราบจากนายสุทธาว่าสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นสินค้าของจำเลยทั้งสอง สินค้าของโจทก์มีราคาสูงกว่าสินค้าของจำเลยทั้งสอง ในการขายสินค้าของโจทก์เมื่อพยานเข้าไปที่ตลาดในวงการผลิตอาหาร พยานถูกโต้แย้งว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าปลอมและราคาแพงกว่า พยานต้องชี้แจงว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงแต่เดิมและศาลได้พิพากษาแล้ว พยานต้องสาธิตการใช้สินค้าแก่ลูกค้าแทบทุกรายซึ่งเป็นที่พอใจของลูกค้าเพราะใช้สินค้าจำนวนน้อยกว่ามาก แม้จะมีราคาสูงกว่าและคุณภาพของสินค้าก็เป็นที่พอใจของลูกค้า เฉพาะส่วนของพยานพยานทำยอดขายได้เดือนละประมาณเกือบ 1,000,000 บาท ในข้อนี้จำเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานจำเลยทั้งสองเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงเจือสมกับคำเบิกความของนายสุทธาพยานโจทก์ข้างต้นว่า ขณะที่จำเลยที่ 2 ทำงานที่บริษัทจิรคร จำกัด ในตำแหน่งพนักงานฝ่ายขายสารเคมีผสมอาหาร จำเลยที่ 2 ได้รู้จักกับนายสุทธาซึ่งทำงานที่บริษัทดังกล่าวในตำแหน่งพนักงานขายสารเคมีผสมอาหารเช่นกัน เมื่อจำเลยที่ 2 ทำงานที่บริษัทนั้นได้ประมาณ 3 เดือน นายสุทธาชักชวนจำเลยที่ 2 ออกจากบริษัทดังกล่าว โดยนายสุทธาแจ้งว่าได้เปิดบริษัท เอฟ.เอ็น.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งขายเคมีผสมอาหารเช่นกันประสงค์จะให้จำเลยที่ 2 ไปร่วมงานด้วย จำเลยที่ 2 จึงออกจากบริษัทจิรคร จำกัด ไปทำงานที่บริษัทดังกล่าว จากข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วและผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2541 และพยานหลักฐานของโจทก์ประกอบกับคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ทราบดีว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับสินค้าเคมีอาหารมาก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอฟ.เอ. อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจะยื่นคำขอจดทะเบียนและได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 42 เดิม ซึ่งรวมถึงสินค้าเคมีอาหารด้วย เครื่องหมายการค้าทั้งสองมีสาระสำคัญและจุดเด่นอยู่ที่คำว่า “Kyuta” เหมือนกัน เมื่อใช้กับสินค้าชนิดเดียวกันจึงนับได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันมากจนทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าและแหล่งกำเนิดของสินค้านั้นได้ ต่อมาได้มีการเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด เอฟ.เอ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของห้างได้โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนดังกล่าวให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัท โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า ที่จำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนและใช้กับสินค้าเคมีอาหารดีกว่าจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้ผลิตสินค้าเคมีอาหารโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ที่ได้รับการจดทะเบียนดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2529 ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2542 อันเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2541 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งใช้กับสินค้าเคมีอาหารมาก่อนที่จำเลยทั้งสองจะใช้เครื่องหมายการค้า กับสินค้าเคมีอาหารของจำเลยทั้งสอง และโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวที่ใช้สินค้าเคมีอาหารของจำเลยทั้งสองดีกว่าจำเลยทั้งสอง การที่จำเลยที่ 2 ทราบดีว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ของโจทก์ดังกล่าวกับสินค้าเคมีอาหารมาก่อนและจำเลยทั้งสองได้ใช้เครื่องหมายการค้า ซึ่งเหมือนและคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของโจทก์อย่างมากกับสินค้าเคมีอาหารเช่นเดียวกันตั้งแต่ปี 2529 จนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2542 ย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสินค้าของโจทก์ได้ การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสองแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยทั้งสองที่จะอาศัยชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยนำคำว่า “Kyuta” ซึ่งเป็นจุดเด่นและสาระสำคัญในเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าเคมีอาหารของจำเลยทั้งสองอันเป็นการทำการลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสองว่าเป็นสินค้าของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวในวันที่ 24 มีนาคม 2542 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 46 วรรคสอง เป็นการแย่งตลาดขายสินค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ขายสินค้าได้น้อยลงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ดีที่โจทก์นำสืบถึงความเสียหายต่าง ๆ เพราะเหตุที่จำเลยทั้งสองทำการลวงขายดังกล่าวเป็นเพียงการกะประมาณความเสียหายเท่านั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจริงถึงจำนวนค่าเสียหายตามคำฟ้อง โดยเฉพาะในวันที่ 24 มีนาคม 2542 โจทก์มิได้มีพยานหลักฐานให้เห็นแน่ชัดว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะการกระทำอันเป็นการลวงขายของจำเลยทั้งสองในวันนั้นเพียงใด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิเคราะห์แล้วเห็นควรกำหนดค่าเสียหายในวันดังกล่าวให้โจทก์ตามสมควรเป็นเงิน 10,000 บาท”
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share