แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เจ้าพนักงานจะรับจดทะเบียนโอนให้แก่คู่กรณีได้ต่อเมื่อได้มีการประกาศขายมีกำหนด 30 วันตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ 5 เสียก่อน ฉะนั้น การที่โจทก์จำเลยได้ไปอำเภอในวันที่ 1 สิงหาคม 2510 ตามสัญญา ก็เพื่อจะดำเนินการประกาศขายดังกล่าวข้างต้น แต่จำเลยกลับไม่ยอมประกาศขายโดยอ้างเหตุว่าโจทก์มีเงินสดชำระเพียง 20,000 บาท ส่วนอีก 37,500 บาทโจทก์จะขอจ่ายเป็นเช็คลงวันล่วงหน้า ในเมื่อครบประกาศแล้วหนึ่งเดือนข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยฟังไม่ขึ้น เพราะเหตุว่าในวันนั้นโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินให้กับจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายผู้ขายแต่อย่างใดเลย
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินของจำเลย กำหนดจะจดทะเบียนโอน (กรรมสิทธิ์) กัน ณ ที่ว่าการอำเภอเมือง ในวันที่ ๑สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ครั้นถึงวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ โจทก์ทั้งสองไปคอยจำเลยอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอเมือง จำเลยไม่ไป ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ ณ ที่ว่าการอำเภอถ้าจำเลยขัดขืน ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยให้จำเลยรับเงินราคาที่ดินที่ยังค้าง ๓๗,๕๐๐ บาทจากโจทก์ และให้จำเลยใช้เงินค่าเสียหาย ๔๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ และให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินทั้งสองแปลง และห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ไปที่อำเภอเมืองตามกำหนดนัด แต่ฝ่ายโจทก์ไม่มีเงินไปชำระให้จำเลยครบถ้วน จำเลยจึงไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ในชั้นฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าเจ้าพนักงานจะรับจดทะเบียนโอนให้แก่คู่กรณีได้ต่อเมื่อได้มีการประกาศขายมีกำหนด ๓๐ วัน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๕ เสียก่อนฉะนั้น การที่โจทก์จำเลยได้ไปอำเภอในวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ตามสัญญาก็เพื่อจะดำเนินการประกาศขายดังกล่าวข้างต้น แต่จำเลยกลับไม่ยอมประกาศขาย โดยอ้างเหตุว่าโจทก์มีเงินสดชำระเพียง ๒๐,๐๐๐บาท ส่วนอีก ๓๗,๕๐๐ บาท โจทก์จะขอจ่ายเป็นเช็คลงวันล่วงหน้าในเมื่อครบประกาศแล้วหนึ่งเดือน ศาลฎีกาเห็นว่าข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยฟังไม่ขึ้นเพราะเหตุว่าในวันนั้นโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินให้กับจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายผู้ขายแต่อย่างใดเลย
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นฝ่ายจงใจจะไม่โอนที่พิพาทให้โจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
พิพากษายืน