แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นตรวจสำนวนการสอบสวนโดยมิได้เรียกสำนวนสอบสวนมาจากโจทก์ แล้วรวมสำนวนไว้เพื่อประกอบการพิจารณาและโจทก์ก็มิได้ส่งสำนวนการสอบสวนต่อศาลหรือขออ้างส่งสำนวนในฐานะเป็นพยานเอกสารศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจึงไม่อาจรู้ได้ว่าสาเหตุแห่งการกระทำผิดเป็นความจริงถูกต้องดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่
ตามใบนำส่งผู้บาดเจ็บให้แพทย์ตรวจชันสูตรของพนักงานสอบสวนระบุว่าถูกคนร้ายใช้มีดแทง บาดแผลผู้เสียหายทั้งสองคนรวม 3 แผล ลึกเพียงครึ่งเซ็นติเมตรทั้ง 3 แผล และรักษา 7 วันหาย จึงไม่ใช่บาดแผลร้ายแรงที่อาจทำให้ถึงตายได้ จึงไม่ควรลงโทษจำคุกจำเลยเต็มตามอัตราโทษจำคุกที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295
ย่อยาว
คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2517 เวลากลางคืน จำเลยได้สมคบกันใช้กำลังกายชกต่อยและใช้ของแข็งมีคมเป็นอาวุธแทงทำร้ายนายเสา ถนอมชาติ และนายประยูร ลุนสิน จนได้รับบาดเจ็บ
เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นจดรายงานว่า “โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน ศาลตรวจสำนวนสอบสวนทราบสาเหตุการกระทำผิดแล้วฟังคำพิพากษาวันนี้”
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ส่วนสาเหตุได้ความตามสำนวนสอบสวนว่าจำเลยทั้งสองมีอาชีพขี่รถจักรยานสามล้อรับจ้าง จำเลยที่ 2 ได้นางแพรว ลูกพี่ลูกน้องกับนายเสา ผู้เสียหายได้ค้าประเวณีที่โรงแรมทิพยวรรณ นายเสาทราบเรื่องจึงไปตามสามีมารับตัวคืน เป็นเหตุให้จำเลยไม่พอใจจึงกลุ้มรุมทำร้ายนายเสากับพวกได้รับบาดเจ็บ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุกคนละ 2 ปี รับลดให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ขอลดหย่อนผ่อนโทษ หรือรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลรักษา 7 วันหายตามรายงานชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนสาเหตุที่ศาลชั้นต้นฟังจากสำนวนการสอบสวนนั้นยังไม่แน่ชัดเพราะไม่ปรากฏตามคำฟ้องหรือคำรับของจำเลย พิพากษาแก้ให้จำคุก คนละ 1 ปี ลดให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 6 เดือน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อกฎหมายและอนุญาตให้โจทก์ฎีกาข้อเท็จจริงได้ในดุลพินิจการลงโทษของศาลอุทธรณ์ตามที่โจทก์ขอ
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นเพียงแต่ “ตรวจสำนวนทราบสาเหตุแห่งการกระทำผิดแล้ว” เท่านี้เอง มิได้เรียกสำนวนสอบสวนมาจากโจทก์แล้วรวมสำนวนไว้เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยอย่างไร สาเหตุแห่งการกระทำผิดมีอยู่อย่างไรไม่ปรากฏและโจทก์มิได้ส่งสำนวนสอบสวนต่อศาล หรืออ้างส่งศาลในฐานะเป็นพยานเอกสารอย่างไรด้วย ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจึงไม่อาจรู้ได้ว่า สาเหตุแห่งการกระทำผิดเป็นความจริงถูกต้องดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ เพราะไม่มีสำนวนส่งศาลเพื่อประกอบการวินิจฉัย
ศาลฎีกาตรวจดูรายงานพิจารณาของศาลชั้นต้นแล้วมีชื่อจำเลยเซ็นไว้จริงแต่ไม่มีข้อความว่าศาลได้สอบถามจำเลยแล้ว จำเลยยืนยันว่าข้อเท็จจริงเป็นดังสำนวนการสอบสวน คงมีแต่เพียงว่า “ศาลได้ตรวจสำนวนการสอบสวนทราบสาเหตุแห่งการกระทำผิดแล้ว” เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ชอบแล้ว
พิพากษายืน