แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อบังคับของสมาคมจำเลยระบุไว้ชัดแจ้งว่า ต้องมีสมาชิกสามัญถึง 3 ใน 4 เข้าชื่อกันร้องขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ จึงจะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญได้ ฉะนั้น การที่สมาคมจำเลยจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญโดยมีสมาชิกสามัญเข้าชื่อกันร้องขอไม่ถึง 3 ใน 4 จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ โจทก์ซึ่งเป็์นสมาชกของสมาคมจำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องร้องขอให้เพิกถอนมติในการประชุมใหญ่วิสามัญนั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสมาชิกสามัญและเป็นนายกสมาคมของจำเลย เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๐๖ มีสามัญสมาชิกของสมาคมจำเลย ๔ คน เข้าชื่อทำหนังสือขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ โจทก์สั่งไม่อนุมัติ แต่นายพิสิษฐ์เจ้าหน้าที่ของสมาคมไม่เชื่อฟังได้ออกหนังสือถึงสมาชิกเชิญประชุมวิสามัญอันเป็นการผิดข้อบังคับของสมาคมจำเลย และได้มีการประชุมกัน โจทก์คัดค้าน แต่ไม่มีผู้ใดเชื่อฟัง ขอให้เพิกถอน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า ฟ้องไม่ปรากฏว่าสมาคมจำเลยโต้แย้งสิทธิอะไรของโจทก์ โจทก์ไม่ได้อ้างว่าจำเลยลงมติฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของจำเลย หรือฝ่าฝืนกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องได้ และเห็นว่าการประชุมใหญ่วิสามัญตามที่โจทก์ฟ้องเกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของสมาคมจำเลย เพราะมีสมาชิกสามัญไม่ถึง ๓ ใน ๔ เข้าชื่อกันร้องขอให้เรียกประชุม พิพากษากลับให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ ๑ ประจำปี ๒๕๐๖ ของสมาคมจำเลยเสีย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อบังคับของสมาคมจำเลยที่ปรากฏในข้อ ๒๙(๒) ตราบังคับไว้ชัดแจ้งแล้วว่า ต้องมีสมาชิกสามัญถึง ๓ ใน ๔ เข้าชื่อกันร้องขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ จึงจะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญได้ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับดังกล่าวแล้วนี้ ย่อมเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมจำเลยมีสิทธิฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ แม้ฟ้องของโจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประชุมก็ตาม แต่ก็มีความหมายทำให้เข้าใจได้แล้วว่าเป็นการขอให้เพิกถอนมติในการประชุมนั้นด้วย ตามมาตรา ๑๒๙๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย