แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้บริษัทขนส่ง จำกัด จะเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2515ไม่ใช้บังคับ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับ ข้อ 2 อันเป็นผลให้โจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแต่ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 ได้กำหนดให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงาน ซึ่งเลิกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดตาม ข้อ 46แห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ ดังกล่าว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายกับค่าชดเชย แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชย เพราะประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับข้อ 2 กำหนดว่า ให้รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515ไม่ใช้บังคับ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 99,480 บาทแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 31,560 บาท แก่โจทก์ที่ 2 คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนและโจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ว่าโจทก์ที่ 2 ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534ข้อ 45 นั้น เห็นว่า แม้บริษัทขนส่ง จำกัด จะเป็นรัฐวิสาหกิจอันเป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคมพ.ศ. 2515 ไม่ใช้บังคับ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคมพ.ศ. 2515 ไม่ใช้บังคับ ข้อ 2 อันเป็นผลให้โจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯแต่ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ได้กำหนดให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานซึ่งเลิกจ้าง ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,260 บาท และทำงานมาแล้วประมาณ 6 ปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 46 แห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 2 ไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันเป็นเงิน 31,560 บาทตามข้อ 45(3) แห่งระเบียบดังกล่าวข้างต้น ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 31,560 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง