คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4040/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยรถราชการทหาร พ.ศ. 2525 ข้อ 171ข้อ 19.2.3 ข้อ 21.3 สรุปความว่า การเก็บรักษารถประจำตำแหน่งให้อยู่ในความควบคุมและความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับรถประจำตำแหน่งตามระเบียบดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้ผู้รับรถประจำตำแหน่งรับผิดเฉพาะการกระทำของตนเองหรือตามคำสั่งของตนเองเท่านั้น จำเลยรับรถประจำตำแหน่งจากกองทัพเรือโจทก์มาใช้แต่จำเลยไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์และไม่มีกฎหมายให้รับผิดร่วมกับผู้อื่นเป็นพิเศษ การที่พลขับรถประจำตำแหน่งลักรถประจำตำแหน่งขับไปและเกิดอุบัติเหตุทำให้รถเสียหาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับพลขับรถประจำตำแหน่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูงและเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือได้รับรถประจำตำแหน่ง 1 คัน เป็นรถนั่งส่วนบุคคลยี่ห้อดัทสันหมายเลขทะเบียน 6 ง-8743 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบต่อรถประจำตำแหน่ง ตามระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยรถราชการทหาร พ.ศ. 2525 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2525 จำเลยครอบครองและใช้รถประจำตำแหน่งด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อมิได้ควบคุมดูแลเอาใจใส่ระมัดระวังรักษารถประจำตำแหน่งตามสมควรแก่หน้าที่ โดยจำเลยปล่อยให้พลทหารทมรัต อุทัยชลานนท์ ซึ่งเป็นพลขับรถประจำตำแหน่งของจำเลยขับรถประจำตำแหน่งไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนที่ต่างจังหวัดโดยพลการและขับด้วยความเร็วสูงโดยความประมาทเป็นเหตุให้รถประจำตำแหน่งเสียหลักแฉลบเข้าชนราวเหล็กกั้นทางโค้งรถได้รับความเสียหายและมีบุคคลอื่นถอดรื้อชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่าง ๆของรถไป เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องซ่อมแซมรถคันดังกล่าวรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 76,330 บาท จำเลยจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายเนื่องจากจำเลยไม่ได้ควบคุมดูแลรถประจำตำแหน่งให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยรถราชการทหาร พ.ศ. 2525 ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า พลทหารทมรัตได้ลักรถประจำตำแหน่งดังกล่าวไปโดยทุจริตขับไปยังจังหวัดจันทบุรี จึงได้เกิดอุบัติเหตุและได้นำรถไปให้นายสุรินทร์ มาเมืองปัก เจ้าของอู่รินทร์เซอร์วิสจังหวัดจันทบุรี ซ่อมโดยพลการ แต่นายสุรินทร์กลับรื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ ไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความประมาทเลินเล่อของจำเลย แต่เป็นความประมาทเลินเล่อของพลทหารทมรัตซึ่งโจทก์เป็นผู้คัดเลือกให้จำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 ขณะเกิดเหตุพลเรือเอกธาดา ดิษฐบรรจงเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ จำเลยสังกัดสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูงตำแหน่งรองผู้บัญชาการ เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2525 โจทก์ให้รถประจำตำแหน่งแก่จำเลย 1 คัน เป็นรถนั่งส่วนบุคคลยี่ห้อดัทสันหมายเลขทะเบียน 6 ง-8743 กรุงเทพมหานคร โดยให้ใช้ในทางราชการตามระเบียบของกระทรวงกลาโหมว่าด้วยรถราชการทหาร พ.ศ. 2525เอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2527 เวลา 19.30 นาฬิกาจำเลยได้ใช้รถประจำตำแหน่งไปในงานเลี้ยงที่โรงแรมไฮแอทเซ็นทรัลพลาซ่า มีพลทหารทมรัตเป็นพลขับ ในระหว่างรับประทานอาหาร พลทหารทมรัตได้นำรถประจำตำแหน่งของจำเลยไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยขับไปจังหวัดจันทบุรีระหว่างทางประสบอุบัติเหตุรถได้รับความเสียหาย 76,330 บาท
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพลทหารทมรัตพลขับได้พารถของโจทก์ไปโดยพลการ โดยที่จำเลยไม่ได้รู้เห็นยินยอม ทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าที่ของพลทหารทมรัตที่จะต้องดูแลรักษารถ การที่จำเลยมอบให้พลทหารทมรัตดูแลรักษารถเป็นเรื่องที่ปกติคนทั่ว ๆ ไปปฏิบัติเช่นนั้นอยู่แล้ว จำเลยจึงไม่ได้ประมาทเลินเล่อแต่ประการใด โจทก์ฎีกาอ้างเหตุว่า จำเลยไม่ทราบประวัติของพลทหารทมรัตมาก่อน ควรที่จะใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งไม่ควรปล่อยปละละเลยให้พลทหารทมรัตครอบครองรถประจำตำแหน่งโดยลำพังโดยไม่สอดส่องควบคุมใกล้ชิดในพฤติการณ์เช่นในวันเกิดเหตุ ก่อนที่จำเลยจะขึ้นไปร่วมงานเลี้ยงจำเลยควรตรวจดูว่า พลทหารทมรัตได้นำรถไปจอดเรียบร้อยแล้วและควรเก็บกุญแจรถมาไว้กับจำเลยเสียเองด้วย แต่จำเลยหากระทำไม่แสดงว่าจำเลยประมาทเลินเล่อ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้จัดหาพลทหารทมรัตพลขับให้จำเลย การเลือกเฟ้นพลขับเป็นหน้าที่ของโจทก์ และปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยว่า พลทหารทมรัตเพิ่งมาอยู่กับจำเลยเพียง14 วัน เท่านั้น ก่อนเกิดเหตุจำเลยใช้งานพลทหารทมรัตเฉพาะในเวลากลางวันไม่เคยใช้ในเวลากลางคืน เพิ่งใช้ให้ขับรถในเวลากลางคืนเป็นครั้งแรก ก็เกิดเหตุ ดังนั้นจำเลยยังไม่ทันสังเกตอุปนิสัยและความประพฤติของพลขับ การที่โจทก์ว่า จำเลยควรเรียกเก็บกุญแจรถจากพลขับนั้นเป็นเรื่องที่พลขับมีเหตุที่ไม่น่าไว้วางใจมาก่อนเช่นเคยนำรถไปใช้โดยพลการ แต่พลทหารทมรัตก็ไม่เคยประพฤติเช่นนั้นอีกประการหนึ่ง หากจำเลยเก็บรักษากุญแจรถไว้เอง หากเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงเก็บรถหรือเหตุอย่างอื่นที่เป็นอันตรายต่อรถพลขับก็ไม่อาจขับรถหลบหนีไปได้ทันอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้อีก จำเลยจึงหาต้องใช้ความระมัดระวังมากถึงเพียงนั้นไม่ โจทก์ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า ระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยรถราชการทหาร พ.ศ. 2525ข้อ 17.1 ข้อ 19.2.3 ข้อ 21.3 สรุปความว่า การเก็บรักษารถประจำตำแหน่งให้อยู่ในความควบคุมและความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับรถประจำตำแหน่ง ทั้งจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถประจำตำแหน่ง ระเบียบดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า หากความเสียหายเกิดแก่รถประจำตำแหน่งไม่ว่ากรณีใด หากมิใช่เนื่องมาจากสภาพของรถและการใช้งานแล้ว ผู้รับรถประจำตำแหน่งต้องรับผิดนั้น เห็นว่าตามระเบียบดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้ผู้รับรถประจำตำแหน่งรับผิดเฉพาะการกระทำของตนเองหรือตามคำสั่งของตนเองเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักความรับผิดฐานละเมิดว่า บุคคลจะต้องรับผิดฐานละเมิดต่อเมื่อตนเองได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น หรือมีกฎหมายบัญญัติให้บุคคลใดรับผิดร่วมกับผู้อื่นโดยชัดแจ้ง เช่น ตัวการต้องรับผิดร่วมกับตัวแทน นายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้าง เป็นต้น เมื่อจำเลยไม่ได้ทำละเมิดและไม่มีกฎหมายให้รับผิดร่วมกับผู้อื่นเป็นพิเศษ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับพลทหารทมรัตที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน

Share