คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6513/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ โดยยกคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของจำเลย จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นพร้อมกับยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยว่า รอไว้สั่งเมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลาเสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงจะพิจารณาสั่ง ต่อมาศาลอุทธรณ์ยืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย หากจำเลยประสงค์จะให้มีการรับอุทธรณ์ไว้พิจารณา จำเลยก็ชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่าได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไว้ และปัญหาเรื่องขอขยายระยะเวลายังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะมีผลให้คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นไม่เป็นที่สุด แต่จำเลยก็มิได้กระทำ กรณีจึงมีผลให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์นั้นเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 และมาตรา 198 ทวิ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 111, 148 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลย 2 ปี คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2545 วันที่ 10 พฤษภาคม 2545 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันสิ้นกำหนดในการอุทธรณ์ อ้างว่าเจ้าพนักงานศาลยังไม่สามารถคัดถ่ายคำพยานโจทก์ จำเลย สรรพเอกสารต่าง ๆ และคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ได้ทันภายในกำหนดเวลาที่จะอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไปจนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2545 ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2545 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 7 วัน อ้างว่า อุทธรณ์ของจำเลยหายไปกับกระเป๋าเดินทางของทนายจำเลยที่นั่งโดยสารมาในรถโดยสารประจำทาง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 ครั้นวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 7 วัน อ้างว่า อุทธรณ์ของจำเลยหายไปในรถโดยสารประจำทางดังกล่าว ยังติดตามไม่พบ ทนายจำเลยมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปที่กรุงเทพมหานครเพื่อนำข้อมูลรายละเอียดอุทธรณ์ซึ่งมีอยู่ในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่สำนักงานทนายความจำเลย แล้วทำการแปลรายละเอียดข้อมูลอุทธรณ์จำเลยลงในแบบฟอร์มอุทธรณ์เพื่อนำมายื่นต่อศาล
ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลา ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่ามีเหตุอันควรอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาโดยยกคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของจำเลยในวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 และจำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นตามอุทธรณ์คำสั่งลงวันที่ 4 พฤษภาคม (ที่ถูกต้องมิถุนายน) 2545 นั้น พร้อมอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอุทธรณ์ของจำเลยว่า “รอไว้สั่งเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เสร็จสิ้นก่อนแล้วจึงจะพิจารณาสั่ง…” ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์โดยอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 แก่จำเลยฟังวันที่ 4 สิงหาคม 2545 พร้อมกันนั้นศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยว่าไม่รับอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลย และให้จำเลยทราบคำสั่งดังกล่าวในวันเดียวกัน ดังนี้ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว หากจำเลยประสงค์จะให้มีการรับอุทธรณ์ไว้พิจารณา จำเลยก็ชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่าได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไว้และปัญหาเรื่องขอขยายระยะเวลายังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะมีผลให้คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นไม่เป็นที่สุด แต่จำเลยก็มิได้กระทำ กรณีจึงมีผลให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์นั้นเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และมาตรา 198 ทวิ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ดังนั้น ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยเรื่องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อย่างไร ก็ไม่อาจมีผลกระทบถึงคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งถึงที่สุดแล้วได้ ปัญหาตามฎีกาของจำเลยจึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้”
ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา

Share