คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6981/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ที่ระบุว่า จำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นบิดาของเด็กชาย ม. โดยที่โจทก์และจำเลยตกลงว่าจะไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญา และโจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร หากพ้นกำหนดนี้แล้วถือว่าเป็นการแสดงเจตนาของทั้งสองฝ่ายมีผลบังคับได้ทันที ข้อ 2 โจทก์ตกลงเป็นผู้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู… และข้อ 3 ระบุว่า… จำเลยตกลงให้โจทก์นำบุตรไปอยู่กับโจทก์ในวันเสาร์ตั้งแต่ 9 นาฬิกา ถึงวันอาทิตย์เวลา 17 นาฬิกา ของทุกสัปดาห์และในช่วงปิดเทอม หากจำเลยผิดสัญญาจำเลยยินยอมให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์และบังคับได้ทันทีนั้น ย่อมหมายความว่า โจทก์และจำเลยจะต้องไปดำเนินการตามกฎหมายให้เด็กชาย ม. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 ภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญาประนีประนอมยอมความก่อน และเมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว โจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ส่วนข้อ 3 ก็เป็นข้อตกลงที่สืบเนื่องมาจากข้อ 1 ว่าเมื่อโจทก์ได้ดำเนินการตามกฎหมายให้เด็กชาย ม. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว หากภายหลังต่อมาจำเลยผิดสัญญา โจทก์ย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้ทันที มิใช่ว่าให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้ทันทีเมื่อจำเลยผิดสัญญาโดยที่โจทก์ยังมิได้ดำเนินการตามข้อ 1 อันจะเป็นการขัดกับ ป.พ.พ. มาตรา 1547 ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมิได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะ
สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาและการบังคับคดีตามคำพิพากษาต้องเป็นไปตามระยะเวลาและขั้นตอนตามคำพิพากษา ดังนั้น การจะบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 และข้อ 3 ได้ จะต้องมีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ก่อน ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1547 บัญญัติว่า เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกันจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเมื่อบิดามารดาได้สมรสกัน หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ปรากฏว่าหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว โจทก์มิได้ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้เด็กชาย ม. เป็นบุตรของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีฐานะเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กขาย ม. จึงไม่ถือเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย ม. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจร้องขอให้บังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตร 1 คน คือเด็กชาย ม. จำเลยใช้อำนาจปกครองเกี่ยวกับตัวบุตรโดยมิชอบ ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยและให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ผู้เดียว ชั้นพิจารณาคู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความมีสาระสำคัญว่า ข้อ 1. จำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นบิดาของบุตรโดยทั้งสองฝ่ายจะไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญา โจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร หากพ้นกำหนดนี้แล้วถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทั้งสองฝ่ายมีผลบังคับทันที ข้อ 2. โจทก์ตกลงเป็นผู้รับผิดชอบในค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร… ข้อ 3. จำเลยตกลงให้โจทก์มีสิทธินำบุตรไปอยู่กับโจทก์ตั้งแต่วันเสาร์ เวลา 9 นาฬิกา ถึงวันอาทิตย์ เวลา 17 นาฬิกา ของทุกสัปดาห์ และในช่วงปิดเทอมจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 20 ปี หากจำเลยผิดสัญญายอมให้อำนาจปกครองอยู่กับโจทก์และบังคับคดีได้ทันที แต่ถ้าโจทก์ผิดสัญญาโจทก์ยินยอมให้จำเลยบังคับคดีได้ทันทีเช่นเดียวกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยไม่นำบุตรให้มาอยู่กับโจทก์ตามที่ตกลงกัน ขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ผู้เดียว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยไม่นำบุตรให้มาอยู่กับโจทก์ตามสัญญา อำนาจปกครองบุตรจึงอยู่กับโจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมโดยไม่จำต้องบังคับคดี ยกคำร้อง โจทก์มีอำนาจปกครองเกี่ยวกับตัวบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อไป
จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้จำเลย ขอให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามสัญญาและส่งมอบบุตรให้แก่จำเลย
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่นำบุตรให้มาอยู่กับโจทก์ ขอให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามพฤติการณ์ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้สิทธิและหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยเป็นไปตามสัญญาเดิม
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์และจำเลยเคยอยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กชาย ม. ภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว ต่อมาโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ระบุว่า จำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นบิดาของเด็กชาย ม. โดยทั้งสองฝ่ายจะไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญานี้โดยโจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร หากพ้นกำหนดนี้แล้วถือว่าเป็นการแสดงเจตนาของทั้งสองฝ่าย มีผลบังคับได้ทันที ข้อ 2 โจทก์ตกลงเป็นผู้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู… และข้อ 3 ระบุว่า …หากจำเลยผิดสัญญาจำเลยยินยอมให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์และบังคับได้ทันที ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ยอมรับว่าโจทก์เป็นบิดาของเด็กชาย ม. การที่โจทก์และจำเลยตกลงว่าจะไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญา ย่อมหมายความว่าโจทก์และจำเลยจะต้องไปดำเนินการตามกฎหมายให้เด็กชาย ม. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 ภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความก่อน และเมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้วโจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ส่วนสัญญาข้อ 3 ที่ระบุว่า …หากจำเลยผิดสัญญาจำเลยยินยอมให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์และบังคับได้ทันที ก็เป็นข้อตกลงที่สืบเนื่องมาจากข้อ 1 ว่าเมื่อโจทก์ได้ดำเนินการตามกฎหมายรับเด็กชาย ม. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว หากภายหลังต่อมาจำเลยผิดสัญญา โจทก์ย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้ทันที มิใช่ว่าให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้ทันทีเมื่อจำเลยผิดสัญญาโดยที่โจทก์ยังมิได้ดำเนินการตามข้อ 1. อันจะเป็นการขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมิได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกอุทธรณ์โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นอย่างไรก็ตามปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา และการบังคับคดีตามคำพิพากษาต้องเป็นไปตามระยะเวลาและขั้นตอนตามคำพิพากษา ดังนั้น การจะบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 และข้อ 3 ได้จะต้องมีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ก่อน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 บัญญัติว่า “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น” และมาตรา 1547 บัญญัติว่า “เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร” และมาตรา 1566 บัญญัติว่า “บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา…” คดีนี้ได้ความว่าโจทก์และจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส และมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กชาย ม. จำเลยซึ่งเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรเพียงผู้เดียวตามมาตรา 1546 และ 1566 แม้ต่อมาโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกัน โดยในข้อ 1. ระบุว่า “จำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นบิดาของเด็กชาย ม. โดยทั้งสองฝ่ายจะไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญานี้โดยโจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง หากพ้นกำหนดนี้แล้วถือว่าเป็นการแสดงเจตนาของทั้งสองฝ่าย มีผลบังคับได้ทันที” แต่ภายหลังจากที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวและศาลพิพากษาตามยอมแล้วไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินการตามกฎหมายโดยร้องขอต่อศาลให้พิพากษาว่าเด็กชาย ม. เป็นบุตรของโจทก์ หรือโจทก์ได้จดทะเบียนรับว่าเด็กชาย ม. เป็นบุตรของโจทก์หรือโจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความแต่อย่างใด เมื่อเป็นเช่นนี้กรณียังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีฐานะเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของเด็กชาย ม. จึงไม่อาจเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย ม. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจร้องขอให้บังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 ได้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ที่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 และข้อ 3 หรือไม่”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกคำร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมของโจทก์

Share