คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7037/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีกระบอกฉีดยาบรรจุสารพิษไว้แล้ว และจำเลยกำลังจับเชือกที่ผูกกระบือของผู้เสียหายซึ่งพร้อมที่จะลงมือฉีดสารพิษใส่เข้าไปในตัวกระบือ การกระทำของจำเลยดังนี้ใกล้ชิดต่อผลแห่งการทำให้เสียทรัพย์ ถือว่าลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด จึงเป็นความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยฉีดสารพิษให้กระบือ อันเป็นทรัพย์ซึ่งเป็นปศุสัตว์ของผู้เสียหาย เพื่อให้กระบือตาย จำเลยได้ลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอดกระบือของผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 359, 80, 33, 32 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359 (ที่ถูกมาตรา 359 (2)), 80 จำคุก 1 ปี ริบของกลาง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้องผู้เสียหาย นายประดิษฐ์และนายบุญรอดร่วมกันจับจำเลยได้พร้อมกระบอกฉีดยาบรรจุสารพิษ และขวดสารพิษขณะที่จำเลยเดินไปที่กระบือผู้เสียหาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าของกลางที่ยึดได้มีเพียงกระบอกฉีดยาที่มีสารพิษและขวดสารพิษโดยไม่พบเข็มฉีดยาด้วย จำเลยจึงไม่สามารถฉีดสารพิษเข้าสู่ภายในตัวกระบือได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ถึงขั้นลงมือกระทำความผิด และโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยพยายามฉีดสารพิษให้กระบือของผู้เสียหายแต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยเพียงแต่จับเชือกที่ผูกกระบือและกระบอกฉีดยาไม่มีเข็มฉีดยา ฟ้องโจทก์จึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้จากทางพิจารณาในสาระสำคัญต้องยกฟ้องนั้น เห็นว่า คำว่า “ฉีด” ตามพจนานุกรมให้ความหมายไว้ว่า “ใช้กำลังอัดหรือดันของเหลวพุ่งออกจากช่องเล็ก ๆ” ดังนั้น กระบอกฉีดยาที่ไม่มีเข็มฉีดยา ก็สามารถฉีดของเหลวเข้าสู่ร่างกายกระบือทางปากหรือทางทวารได้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีกระบอกฉีดยาบรรจุสารพิษไว้แล้วและจำเลยกำลังจับเชือกที่ผูกกระบือของผู้เสียหายซึ่งพร้อมที่จะลงมือฉีดสารพิษใส่เข้าไปในตัวกระบือ การกระทำของจำเลยดังนี้ใกล้ชิดต่อผลแห่งการทำให้เสียทรัพย์ ถือว่าเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะผู้เสียหายมาพบและเข้าขัดขวางเสียก่อน และเมื่อศาลฎีกาฟังว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาดังกล่าวถือว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share