แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 และ 2542 ระบุผลการประกอบกิจการขาดทุนสุทธิทั้งสองรอบระยะเวลาบัญชี เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล หัก ณ ที่จ่าย สำหรับรอบระยะเวลาปฏิบัติดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบแล้ว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไว้ไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ก่อน ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว และตามระบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากรตาม ป.รัษฎากรฯ ข้อ 21 กำหนดระยะเวลาการตรวจสอบให้แล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันออกหมายเรียก การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเพื่อขอคืนภาษีขณะที่ยังอยู่ในระยะเวลาตรวจสอบดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินภาษีอากรพร้อมดอกเบี้ยรวม 89,040 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จากต้นเงินจำนวน 84,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2541 และ 2542 ระบุผลการประกอบกิจการขาดทุนสุทธิทั้งสองรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 61 ถึง 64 และแผ่นที่ 94 ถึง 97 ตามลำดับ วันที่ 12 เมษายน 2544 โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 จำนวน 42,000 บาท และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 จำนวน 42,000 บาท เงินภาษีทั้งสองจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด ผู้จ่ายเงินได้ ซึ่งเป็นผู้เช่าตึกแถวของโจทก์ได้หักไว้เมื่อชำระค่าเช่าแก่โจทก์ วันที่ 13 กันยายน 2544 เจ้าพนักงานประเมินหมายเรียกตรวจสอบภาษีโจทก์ทั้งสองรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวตามหมายเรียกเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 45 และจำเลยยังมิได้คืนเงินภาษีแก่โจทก์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า รอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 และ 2542 โจทก์มีผลการประกอบกิจการขาดทุนสุทธิ เงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินภาษีที่เสียไว้เกิน การขอคืนของโจทก์เป็นกรณีประเด็นที่ขอคืนชัดแจ้งตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ.2539 ข้อ 13.1 จำเลยต้องคืนภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง การที่จำเลยมิได้คืนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เห็นว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 และ 2542 ระบุผลการประกอบกิจการขาดทุนสุทธิทั้งสองรอบระยะเวลาบัญชี กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไว้ไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ก่อน หาใช่ประเด็นที่ขอคืนชัดแจ้งดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวและตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2539 เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 19 ถึง 26 ข้อ 21 กำหนดระยะเวลาการตรวจสอบให้แล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันออกหมายเรียก การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขณะที่ยังอยู่ในระยะเวลาตรวจสอบดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน