แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เช็คที่โจทก์เก็บรักษาไว้ที่บ้านก็ดี ที่นำติดตัวไปด้วยโดยเก็บไว้ในกระเป๋าในรถยนต์ก็ดีเป็นการเก็บเช็คและนำเช็คติดตัวไปเพื่อใช้ดังเช่นที่วิญญูชนจะพึงปฏิบัติตามปกติธรรมดา มิได้มีความบกพร่องไม่เก็บเช็คไว้ในที่มั่นคงและปลอดภัยแต่อย่างใด ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อการที่เจ้าหน้าที่ของธนาคารจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทไป แม้จะอ้างว่าปราศจากความประมาทเลินเล่อแต่เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คเป็นลายมือชื่อปลอม ไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ จำเลยจึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปไม่ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาฝากเงินประเภทเงินฝากกระแสรายวันซึ่งมีข้อตกลงว่าในการใช้เช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของโจทก์จะต้องลงลายมือชื่อโจทก์เป็นผู้สั่งจ่าย แต่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ จึงขอให้จำเลยคืนเงินที่จำเลยหักไปจากบัญชีของโจทก์เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม(มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารจำเลย มีข้อสัญญากันว่าการออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ จะต้องมีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายของโจทก์เป็นสำคัญ ได้มีผู้ปลอมลายมือชื่อของโจทก์ลงในเช็คจำนวน 3 ฉบับฉบับแรกสั่งจ่ายเงินจำนวน 46,600 บาท ฉบับที่สองสั่งจ่ายเงินจำนวน85,000 บาท และฉบับที่สามสั่งจ่ายเงินจำนวน 47,000 บาท แล้วนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินที่ธนาคารจำเลย ด้วยความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่จำเลย จึงได้จ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับนั้นไปรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 178,600 บาท จำเลยได้หักทอนเงินจำนวนนั้นจากบัญชีของโจทก์โดยไม่มีสิทธิจะหักทอนได้ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินและค่าเสียหายก่อนฟ้องรวมเป็นเงิน 217,073.80 บาท และค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ในเงินต้นจำนวน 178,600 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ปล่อยปละละเลยไม่เก็บรักษาเช็คไว้ให้ดีทำให้เช็คทั้งสามฉบับตามฟ้องตกไปอยู่กับบุคคลอื่นจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้น หาใช่เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยไม่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คทั้งสามฉบับเป็นลายมือชื่อของโจทก์หาใช่ลายมือชื่อปลอมไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ทำการตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายแล้ว จึงได้จ่ายเงินตามเช็คนั้นให้แก่ผู้ทรงเช็คไปโดยสุจริต หาได้ประมาทเลินเล่อไม่ ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับเป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คแต่ละฉบับคืนโจทก์พร้อมด้วยค่าเสียหายอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยได้หักเงินจากบัญชีของโจทก์เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้โจทก์เสร็จ และฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 217,073.80 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ในต้นเงิน 178,600 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับเป็นลายมือชื่อปลอมคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยจ่ายเงินไปตามเช็คพิพาทโดยปราศจากประมาทเลินเล่อ แต่โจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาเช็คจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า เช็คที่โจทก์เก็บรักษาไว้ที่บ้านก็ดี ที่นำติดตัวไปด้วย โดยเก็บไว้ในกระเป๋าในรถยนต์ก็ดีเป็นการเก็บเช็คและนำเช็คติดตัวไปเพื่อใช้ดังเช่นที่วิญญูชนจะพึงปฏิบัติตาปกติธรรมดา มิได้มีความบกพร่องไม่เก็บเช็คไว้ในที่มั่นคงและปลอดภัยแต่อย่างใด ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อ การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทไป แม้จะอ้างว่าปราศจากความประมาทเลินเล่อแต่เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คเป็นลายมือชื่อปลอมไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ จำเลยจึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปไม่ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 ทั้งคดียังปรากฏว่าลายมือชื่อโจทก์ในเช็คพิพาททั้งสามฉบับกับลายมือชื่อจำเลยตามตัวอย่างที่ให้ไว้แก่จำเลย มีรูปลักษณะของตัวอักษร ลายเส้นที่ใช้ แตกต่างสามารถเห็นได้โดยมิต้องอาศัยคำวินิจฉัยของผู้เชี่ยวชาญ ก็ทราบว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลต่างคนกัน ข้ออ้างของจำเลยตามฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาต่อมาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาฝากเงินประเภทเงินฝากกระแสรายวันซึ่งมีข้อตกลงว่าในการใช้เช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของโจทก์จะต้องลงลายมือชื่อโจทก์เป็นผู้สั่งจ่าย แต่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ จึงขอให้จำเลยคืนเงินที่จำเลยหักไปจากบัญชีของโจทก์เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม(มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่) ดังนี้ แม้จะถือว่าโจทก์ทราบถึงการที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรกและฉบับที่สองตั้งแต่เดือนเมษายนและมิถุนายน 2528 ดังที่จำเลยอ้างก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2529 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน