คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2803/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์สืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 ศาลชั้นต้นฟังพยานโจทก์ว่า จำเลยร่วมกับพวกข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงจริง และพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องจำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงว่า ผู้เสียหายมีส่วนร่วมในความผิดที่เกิดขึ้นจึงไม่เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย กับขอให้รอการลงโทษให้แก่จำเลยโดยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงแต่ประการใด ข้อเท็จจริงจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิด ผู้เสียหายปรักปรำจำเลย ทำให้มีเหตุสงสัย จึงเชื่อได้ไม่สนิทใจว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นการหยิบยกเอาข้อเท็จจริงซึ่งยุติไปในศาลชั้นต้นขึ้นมาโต้เถียงใหม่ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งไม่อาจอนุญาตให้ฎีกาได้ การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้เป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1431/2550 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้ว ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 เวลากลางวัน จำเลยกับนายทรงเกียรติหรือปิง ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2785/2548 และพวกอีก 2 คน ร่วมกันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันข่มขืนกระทำชำเรา ช. ผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยกับพวก อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงโดยจำเลยกับพวกใช้วาจาขู่เข็ญและใช้กำลังประทุษร้าย ช่วยกันจับแขนและจับขาบังคับให้ผู้เสียหายนอนหงายบนเตียงแล้วใช้อวัยวะเพศสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายขณะผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เหตุเกิดที่ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 276
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์สืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 ศาลชั้นต้นฟังพยานโจทก์ว่า จำเลยร่วมกับพวกข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงจริง และพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในความผิดที่เกิดขึ้นจึงไม่เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย กับขอให้รอการลงโทษให้แก่จำเลยโดยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงแต่ประการใด ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิด ผู้เสียหายปรักปรำจำเลย ทำให้มีเหตุสงสัย จึงเชื่อได้ไม่สนิทใจว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นการหยิบยกเอาข้อเท็จจริงซึ่งยุติไปในศาลชั้นต้นขึ้นมาโต้เถียงใหม่ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งไม่อาจอนุญาตให้ฎีกาได้ การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 276 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share