แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๑/๒๕๕๓
วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๓
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดพัทยา
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพัทยาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ นายเจษฏางค์ โชตนา โจทก์ ยื่นฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำเลย ต่อศาลจังหวัดพัทยา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๙๓๖/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร้านไบค์เลน ไบเกอร์คลับ และทรัพย์สินในร้าน โดยโจทก์ได้รับอนุญาตจากนางศิริพร ผ่องแสง มารดาของภริยาโจทก์ให้ปลูกร้านดังกล่าวในที่ดินของนางศิริพร บ้านเลขที่ ๖๑/๑ ถนนหนองไม้แก่น ซอย ๑๐ หมู่ที่ ๗ ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และใช้บ้านเลขที่ ๖๑/๑ เช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๑ หม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าบนเสาไฟฟ้าของจำเลย หรืออยู่ในความครอบครองของจำเลยซึ่งติดตั้งอยู่ในซอยหนองไม้แก่น ซอย ๑๐ หมู่ที่ ๗ ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ห่างจากบ้านของโจทก์ ๕๐๐ เมตร ชำรุดหรือขัดข้อง อันเนื่องจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความประมาทของจำเลยที่มิได้ตรวจ ดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพปลอดภัยและใช้งานได้ดี ซึ่งบุคคลเช่นจำเลยจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และอาจใช้ความระมัดระวังได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เป็นเหตุให้หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดและเกิดการลัดวงจร หรือมิฉะนั้นก็ปล่อยให้มีการใช้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านหม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าวเกินจำนวนที่หม้อแปลงไฟฟ้าจะสามารถให้ใช้งานได้ หรือหม้อแปลงไฟฟ้าใช้งานนานจนเสื่อมสภาพแล้วโดยจำเลยมิได้ตรวจดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพปลอดภัย เป็นเหตุให้กระแสไฟฟ้าจากสายส่งแรงสูงไหลผ่านสายไฟฟ้าเข้าไปในสายส่งแรงต่ำที่จ่ายไฟฟ้าเข้าบ้านของโจทก์ และไหลเข้าเครื่องรับโทรทัศน์ที่เสียบปลั๊กไฟในบ้านที่เกิดเหตุ ทำให้เกิดความร้อนสูงจนถึงขั้นลุกติดไฟลามไหม้ร้านและทรัพย์สินในร้านของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยในฐานะผู้มีไว้ในครอบครอง ซึ่งสายไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้าเดินอยู่หม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ ต้องรับผิด เพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ทรัพย์นั้นต่อโจทก์ รวมเป็นเงินค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๖,๔๑๓,๕๖๒ บาท โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๑ อันเป็นวันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ ซึ่งดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน ๒๔๔,๕๑๗ บาท รวมเป็นเงิน ๖,๖๕๘,๐๗๙ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๖,๖๕๘,๐๗๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๖,๔๑๓,๕๖๒ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า และอุปกรณ์บนเสาไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่บนถนนเกิดเหตุที่มีสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้ปกติ โดยจำเลยไม่ได้ประมาท แต่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษาทรัพย์สินดังกล่าวตามมาตรฐาน มิได้ชำรุดหรือขัดข้อง และเหตุการละเมิดที่เกิดขึ้นตามคำฟ้องของโจทก์มิได้เกิดจากการที่หม้อแปลงไฟฟ้าของจำเลยระเบิดหรือเกิดการลัดวงจร จำเลยไม่ได้ปล่อยให้มีการใช้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านหม้อแปลงไฟฟ้าเกินจำนวนที่หม้อแปลงไฟฟ้าจะให้ใช้งานได้ แต่เกิดจากเหตุสุดวิสัยที่มีงูเลื้อยขึ้นเสาไฟฟ้าที่ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าพาดระหว่างสายไฟฟ้าแรงสูงกับสายดิน ทำให้กระแสไฟฟ้าแรงสูงลัดวงจร กระแสไฟฟ้าบางส่วนไหลไปที่มิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านนางศิริพร ผ่องแสง ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ไฟฟ้าจากจำเลย และเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ที่ติดตั้งเครื่องป้องกันกระแสไฟฟ้าเกินพิกัดในบ้านเกิดเหตุไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไม่ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานของจำเลยดังเช่นบ้านหลังอื่นที่อยู่ใกล้เคียงที่ได้รับความเสียหายเล็กน้อยไม่ถึงขั้นเกิดเพลิงไหม้ และโจทก์เสียบปลั๊กไฟโทรทัศน์ทิ้งไว้ทั้งๆ ที่วางอยู่ใกล้ชั้นวางน้ำมันหล่อลื่นซึ่งเป็นวัตถุไวไฟ จำเลยมิได้เป็นผู้ครอบครองสายไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าทรัพย์อันตรายในส่วนที่โจทก์ลักลอบต่อพ่วงสายไฟฟ้าซึ่งเป็นจุดระหว่างมาตรวัดไฟฟ้ากับบ้านนางศิริพรเข้าบ้านเกิดเหตุโดยไม่ได้ขออนุญาตใช้ไฟฟ้าจากจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองร้านไบค์เลน ไบเกอร์คลับ และทรัพย์สินในร้าน ค่าเสียหายที่เรียกสูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งคดีนี้เป็นข้อพิพาทที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพัทยาพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ กำหนดหน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าไว้ไม่ชัดเจนเหมือนดังเช่นกรณีอำนาจหน้าที่ของกรมทางหลวงหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กฎหมายให้อำนาจหน้าที่ในการดูแลบำรุงรักษาสิ่งสาธารณูปโภคอันมีสภาพเป็นการบริการสาธารณะโดยตรง ทั้งนี้อำนาจในการดำเนินการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๖ มาตรา ๑๓ และมาตราอื่นๆ กำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ไว้หลายประการ บางประการต้องใช้อำนาจทางปกครอง เช่น อำนาจในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์บางประการ ก็ไม่ได้ใช้อำนาจทางปกครองแต่เป็นการดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นลักษณะเช่นเดียวกับเอกชนทั่วไป ตัวอย่างเช่น การให้บริการกระแสไฟฟ้าแก่เอกชนผู้ใช้บริการ เป็นต้น กรณีเช่นนี้ความสัมพันธ์ระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผู้ให้บริการกับเอกชนผู้ใช้บริการจึงเป็นไปในเชิงธุรกิจการค้าอันเป็นความสัมพันธ์ในทางแพ่ง คดีนี้โจทก์อ้างว่า กระแสไฟฟ้าแรงสูงไหลผ่านหม้อแปลงไฟฟ้าของจำเลยเข้ามาในสายไฟฟ้าแรงต่ำภายในบ้านของโจทก์ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ทรัพย์สินเสียหาย โจทก์จึงเป็นผู้ใช้บริการกระแสไฟฟ้าของจำเลยซึ่งเป็นผู้ให้บริการกระแสไฟฟ้า เมื่อการให้บริการกระแสไฟฟ้าของผู้ให้บริการทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้บริการโดยตรง ไม่ได้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนทั่วไป จึงเป็นเรื่องละเมิดในทางแพ่ง ทั้งเหตุละเมิดในคดีนี้ไม่ได้เกิดจากการวางระบบของจำเลยในเรื่องสาธารณูปโภคแล้วก่อให้เกิดความเสียหายอันจะถือเป็นคดีปกครอง ข้อเท็จจริงนี้แตกต่างกับคดีของกรมทางหลวงที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรักษาทางหลวง หรือคดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการบำรุงรักษาไม่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับความเสียหาย เช่น การบำรุงรักษาฝาท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้าสาธารณะและสภาพการเป็นบริการสาธารณะซึ่งหากละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าวแล้วเกิดความเสียหายแก่ประชาชนทั่วไปก็จะเป็นคดีปกครอง ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ในขณะที่มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เมื่อคดีนี้จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ เพื่อดำเนินการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นกิจการสาธารณูปโภคตามมาตรา ๖ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง เมื่อจำเลยดำเนินกิจการสาธารณูปโภคเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้บริการแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องตามหลักการจัดทำบริการสาธารณะ จำเลยจึงต้องบำรุงรักษาระบบเครือข่ายและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในระบบไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีโดยไม่ก่อให้เกิดภยันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓ (๖) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยไม่จำต้องกำหนดหน้าที่ของจำเลยในการบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าไว้ให้ชัดเจนในพระราชบัญญัติดังกล่าวอีก เพราะหากถือว่าจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับการบำรุงรักษาสิ่งของหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะแล้วย่อมเห็นได้ชัดว่าไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากสิ่งของและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบริการสาธารณะในแต่ละกรณีจะมีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้านั้น เป็นกรณีที่จะต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของจำเลยโดยเฉพาะ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง โจทก์ฟ้องว่าหม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าของจำเลยหรืออยู่ในความครอบครองของจำเลยเกิดระเบิดไฟฟ้าลัดวงจร โดยจำเลยมิได้ตรวจดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพปลอดภัยใช้งานได้ดีและป้องกันอันตรายต่อประชาชนตามหน้าที่ เป็นเหตุให้กระแสไฟฟ้าจากสายส่งแรงสูงไหลผ่านสายไฟฟ้าเข้าไปในสายส่งแรงต่ำที่จ่ายไฟฟ้าเข้าบ้านที่เกิดเหตุและไหลเข้าเครื่องรับโทรทัศน์ที่เสียบปลั๊กไฟในบ้านที่เกิดเหตุ ทำให้เกิดความร้อนสูงถึงขั้นลุกติดไฟลามไหม้ร้านไบค์เลน ไบเกอร์คลับและทรัพย์สินในร้านซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ในการตรวจสอบดูแลและบำรุงรักษาระบบเครือข่ายและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะให้มีความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง กรณีมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างคู่กรณีอันทำให้ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมแต่อย่างใด
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
คดีนี้จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในเขตส่วนภูมิภาคซึ่งอยู่นอกเขตท้องที่ที่การไฟฟ้านครหลวงดำเนินการอยู่ และในประเทศใกล้เคียงตามมาตรา ๖ และมาตรา ๗ และมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงอำนาจจัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามมาตรา ๑๓ (๖) เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้โจทก์อ้างว่า หม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าบนเสาไฟฟ้าของจำเลย หรืออยู่ในความครอบครองของจำเลยชำรุดหรือขัดข้อง เป็นเหตุให้กระแสไฟฟ้าจากสายส่งแรงสูงไหลผ่านสายไฟฟ้าเข้าไปในสายส่งแรงต่ำภายในบ้านของโจทก์ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ร้านและทรัพย์สินในร้านของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์อ้างว่า จำเลยละเลยไม่ดูแลหม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าบนเสาไฟฟ้าของจำเลย ให้อยู่ในสภาพปลอดภัยและใช้งานได้ดี เป็นเหตุให้หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดและเกิดการลัดวงจรหรือมีกระแสไฟฟ้าแรงสูงไหลผ่านหม้อแปลงไฟฟ้าของจำเลยเข้าไปในสายไฟฟ้าแรงต่ำภายในบ้านของโจทก์ ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ทรัพย์สินเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายเจษฏางค์ โชตนา โจทก์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ