แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่บริษัทเอผู้ขายและผู้เอาประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลได้รับชำระราคาสินค้านั้นแล้วได้ส่งใบตราส่งใบกรมธรรม์ประกันภัยใบกำกับสินค้าและใบรายการบรรจุหีบห่อไปให้บริษัทบีย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของบริษัทเอว่าประสงค์จะโอนสินค้าซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยไปให้บริษัทบีแล้วและเมื่อปรากฎว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายบริษัทบีก็ได้ทวงถามให้จำเลยซึ่งบริษัทเชื่อว่าเป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหายแต่จำเลยเพิกเฉยจึงทวงถามโจทก์ผู้รับประกันภัยโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทบีไปย่อมทำให้เชื่อว่าบริษัทเอผู้เอาประกันภัยได้บอกกล่าวการโอนสินค้าซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยไปยังโจทก์ผู้รับประกันแล้วมิฉะนั้นย่อมไม่มีเหตุที่โจทก์จะยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทบี ฉะนั้นสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมโอนไปยังบริษัทบี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา875วรรคสองเมื่อโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายให้บริษัทบีโจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวได้ การที่จำเลยขอนำเรือเข้าติดต่อขอเช่าเรือลากจูงนำหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นประกันต่อกรมเจ้าท่าและการท่าเรือแห่งประเทศไทยและการที่จำเลยเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าพิพาทเห็นได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการขนส่งทอดสุดท้ายเพื่อให้สินค้าพิพาทได้ขนส่งถึงมือผู้รับตราส่งซึ่งถือได้ว่าเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเลโดยจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายจำเลยจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา618ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับการรับขนของทางทะเลในขณะเกิดเหตุข้อพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาชีพรับขนส่งของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติโดยร่วมกับบริษัทขนส่งที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ซึ่งไม่มีสาขาในประเทศไทยและจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย ในการร่วมดำเนินกิจการขนส่งเช่นว่านี้จำเลยเรียกขานตนเองว่าเป็นเอเยนต์ของบริษัทขนส่งในต่างประเทศที่จำเลยร่วมดำเนินกิจการนั้น จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน237,095.51 บาท อันเป็นหนี้ที่โจทก์ได้รับช่วงสิทธิมาจากบริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัด มูลหนี้เกิดขึ้นโดยเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2533 โจทก์ได้รับประกันภัยความเสียหายของรถปั้นจั่นตีนตะขาบใช้แล้ว ไอเอชไอ พร้อมอุปกรณ์ 1 คันที่จะขนส่งทางทะเลโดยเรือโทรโน จากเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นมายังกรุงเทพมหานคร ประเทศไทยไว้จากบริษัทเอสเทรดดิ้ง จำกัดแห่งเมืองโอกายาม่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำส่งมอบให้แก่บริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัดในกรุงเทพมหานคร โจทก์รับประกันภัยไว้เป็นเงิน 9,900,000 เยน เท่ากับ 1,739,925 บาทผู้ขนส่งหรือนายเรือได้ออกใบตราส่งให้แก่บริษัทเอสเทรดดิ้งจำกัด เพื่อเป็นหลักฐานการรับสินค้าลงเรือหลังจากที่บริษัทเอสเทรดดิ้ง จำกัด ผู้ขายและผู้ตราส่งได้รับชำระเงินค่าสินค้ารถปั้นจั่นตีนตะขาบโดยผ่านทางธนาคารแล้ว บริษัทดังกล่าวได้โอนใบตราส่งและกรมธรรม์ประกันภัย ใบเรียกเก็บเงิน (ที่ถูกเป็นใบกำกับสินค้า) และใบรายการบรรจุหีบห่อมาให้แก่บริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัด โดยผ่านทางธนาคารเช่นเดียวกันบริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัด จึงรับช่วงสิทธิในสินค้ารถปั้นจั่นตีนตะขาบรายนี้มาจากผู้ขาย และเมื่อสินค้ารถปั้นจั่นตีนตะขาบที่เอาประกันภัยไว้ได้เปลี่ยนมือไปจากบริษัทเอสเทรดดิ้ง จำกัด ผู้เอาประกันภัยมาเป็นของบริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัด แล้วเช่นนี้ สิทธิอันมีอยู่ตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลจึงโอนมาเป็นของบริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัด บริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัดได้รับรถปั้นจั่นและอุปกรณ์ไปจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533 แต่ปรากฎว่าอุปกรณ์เครื่องถ่วงน้ำหนักของรถปั้นจั่นแตกหักเสียหาย ใช้การไม่ได้และไม่อาจซ่อมแซมให้กลับคืนดีดังเดิมได้ บริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์จำกัด จึงเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายรายนี้ แต่จำเลยปฎิเสธความรับผิดชอบบริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัด จึงเรียกร้องให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยชดใช้ให้ โจทก์จึงได้ชำระค่าเสียหายจำนวน 228,638.98 บาท ให้แก่บริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัด ไปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2533โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของบริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัดโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระให้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 237,095.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากยอดต้นเงิน 228,638.98 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เป็นผู้ขนส่งหรือเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย จำเลยเป็นเพียงตัวแทนเรือโทรโนเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกแก่เรือ ลูกเรือ และติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเรือโทรโนเข้าเทียบท่าและออกจากท่าเท่านั้นจำเลยไม่ได้ประกอบกิจการรับขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเลต่างประเทศ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการขนถ่ายสินค้าพิพาทจากเรือโทรโนแต่ประการใด และจำเลยมิได้เป็นผู้ว่าจ้างหรือผู้จัดการให้มีการขนถ่ายรถปั้นจั่นพิพาท เช่นกัน โจทก์ไม่ได้รับประกันภัยสินค้าพิพาทไว้จากบริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์จำกัด เพราะกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ลงชื่อโจทก์ สินค้ารถปั้นจั่นคดีนี้ไม่ได้รับ ความเสียหายระหว่างการขนส่งทางทะเลสินค้าเสียหายเกิดจากสภาพของสินค้านั้นเอง ผู้ขนส่งและหรือจำเลยไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 228,638.98 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2533 จนกว่าจำเลยจะชำระให้โจทก์จนเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่บริษัทเอสเทรดดิ้ง จำกัดผู้ขายและผู้เอาประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลได้รับชำระราคาสินค้านั้นแล้วได้ส่งใบตราส่ง ใบกรมธรรม์ประกันภัยใบกำกับสินค้า และใบรายการบรรจุหีบห่อไปให้บริษัทอัศดา อีควิปเมนท์ จำกัด ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของบริษัทเอสเทรดดิ้ง จำกัด ว่าประสงค์จะโอนสินค้าซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยไปให้บริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัด แล้วและเมื่อปรากฎว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหาย บริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัด ก็ได้ทวงถามให้จำเลยซึ่งบริษัทเชื่อว่าเป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยเพิกเฉย จึงทวงถามโจทก์ผู้รับประกันภัย โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัด ไปทำให้น่าเชื่อว่าบริษัทเอสเทรดดิ้ง จำกัด ผู้เอาประกันภัยได้บอกกล่าวการโอนสินค้าซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยไปยังโจทก์ผู้รับประกันภัยแล้ว มิฉะนั้น ย่อมไม่มีเหตุที่โจทก์จะยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัด ฉะนั้นสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมโอนไปยังบริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 875 วรรคสอง เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายให้บริษัทอัศดา อีควิปเม้นท์ จำกัด โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวได้
จำเลยฎีกาต่อไปว่า จำเลยไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เห็นว่าการที่จำเลยขอนำเรือเข้าก็ดี ติดต่อขอเช่าเรือลากจูง นำหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นประกันต่อกรมเจ้าท่าและการท่าเรือแห่งประเทศไทยก็ดีและการที่จำเลยเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าพิพาทก็ดี เห็นได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการขนส่งทอดสุดท้ายเพื่อให้สินค้าพิพาทได้ขนส่งถึงมือผู้รับตราส่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเลโดยจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับการรับขนของทางทะเลในขณะเกิดเหตุข้อพิพาท
พิพากษายืน