คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4146/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อโจทก์เขียน พ.ศ. ผิดพลาด และนำแบบพิมพ์ของบริษัทก. มาใช้ จำเลยที่ 2 จึงได้ทำหนังสือค้ำประกันฉบับพิพาทให้โจทก์ ใหม่แทนหนังสือค้ำประกันฉบับเดิม แม้หนังสือค้ำประกัน ฉบับพิพาทจะทำขึ้นภายหลังวันที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ ให้โจทก์ไว้และมิได้มีข้อความระบุว่าให้มีผลย้อนหลังไปถึงหนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ก็ตาม แต่เมื่อเป็นผลสืบเนื่องต่อจากหนังสือค้ำประกันฉบับเดิม หนังสือค้ำประกันฉบับพิพาทจึงมีผลบังคับ แม้คำฟ้องโจทก์จะบรรยายแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสำเนาเอกสาร หมาย จ.4 โดยมิได้บรรยายว่า จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 ต่อเนื่องกับหนังสือค้ำประกันตามสำเนาเอกสารหมาย จ.10 ก็ตาม แต่การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลถึงหนังสือค้ำประกันตามสำเนาเอกสารหมาย จ.10ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่ามูลเหตุที่จำเลยที่ 2 ต้องทำหนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 ให้โจทก์มีความเป็นมาอย่างไร จึงไม่เป็นการสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารและไม่เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็น การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังพยานบุคคลดังกล่าวจึงมิใช่ เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 และ 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 257,574.26 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 250,528.16 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ หากมีหนี้สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ชำระให้โจทก์เสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้กับโจทก์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2537 ซึ่งเป็นการค้ำประกันการทำงานและความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังวันทำสัญญาแต่หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2537 หากหนี้ดังกล่าวมีจริงก็เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันและในหนังสือค้ำประกันไม่ได้ระบุให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในหนี้นั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน250,528.16 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานฝ่ายขายของโจทก์ ได้เก็บเงินค่าสินค้าของโจทก์แล้วนำไปใช้ส่วนตัวเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2537 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้เพื่อชดใช้เงินคืนให้โจทก์ ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.3 แต่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนยังคงค้างอีก 250,528.16 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระจำเลยที่ 2 เคยทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.10 ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2537 จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.4
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2537 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสำเนาหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10 แต่หนังสือค้ำประกันดังกล่าวได้เขียน พ.ศ. ผิดพลาด และนำแบบพิมพ์ของบริษัทกรุงไทยอุปกรณ์ จำกัด มาใช้จำเลยที่ 2 จึงได้ทำหนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 ให้โจทก์ใหม่แทนหนังสือค้ำประกันฉบับเดิม หนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 ดังกล่าวนี้แม้ว่าจะทำขึ้นภายหลังวันที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้และมิได้มีข้อความระบุว่าให้มีผลย้อนหลังไปถึงหนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ก็ตามแต่หนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4เป็นผลสืบเนื่องต่อจากหนังสือค้ำประกันตามสำเนาเอกสารหมาย จ.10ดังนี้จึงถือได้ว่าหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ได้ค้ำประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไว้แก่โจทก์ด้วยจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2537
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องประสงค์ที่จะให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามหนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 เท่านั้น มิได้ให้รับผิดตามสำเนาหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10 ด้วยการที่โจทก์นำสืบว่าหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 เป็นการทำหนังสือค้ำประกันต่อเนื่องกับหนังสือค้ำประกันตามสำเนาเอกสารหมาย จ.10 เป็นการสืบนอกฟ้องของโจทก์ การที่ศาลรับฟังพยานบุคคลเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารและวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 และ 142 นั้นเห็นว่าแม้ตามคำฟ้องโจทก์จะบรรยายแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.4 โจทก์ไม่ได้บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 ต่อเนื่องกับหนังสือค้ำประกันตามสำเนาเอกสารหมาย จ.10 ก็ตาม แต่การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลถึงหนังสือค้ำประกันตามสำเนาเอกสารหมาย จ.10 ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่ามูลเหตุที่จำเลยที่ 2 ต้องทำหนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 ให้โจทก์ มีความเป็นมาอย่างไร ดังนั้นกรณีที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลดังกล่าวไม่เป็นการสืบเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารและไม่เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็น ทั้งการที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังพยานบุคคลดังกล่าว และมีคำพิพากษาจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 และ 142
พิพากษายืน

Share