คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้มาตรา5 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ จะบัญญัติให้คัดสำเนาประกาศปิดตามสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องก็เป็นเพียงกำหนดวิธีการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติในการประกาศเท่านั้นหาใช่บทบัญญัติอันเป็นองค์ประกอบความผิดไม่จึงไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องมาด้วย หากจำเลยเห็นว่ายังไม่ได้มีการปิดประกาศตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งจะใช้บังคับจำเลยไม่ได้ ก็ชอบที่จะยกขึ้นต่อสู้ให้เป็นประเด็นแต่จำเลยมิได้ต่อสู้เช่นนั้นคงต่อสู้ว่าจำเลยมีบานประตูไม้สักไว้ในความครอบครองโดยชอบ ซึ่งแสดงว่าจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าบานประตูไม้สักเป็นเครื่องใช้ซึ่งอยู่ในข่ายควบคุมประกาศดังกล่าว จำเลยมิได้หลงต่อสู้ประการใด ฟ้องของโจทก์จึงหาเคลือบคลุมไม่
บานประตูไม้สักมีสภาพเป็นเครื่องใช้ แม้จะเหลือจากการรับเหมาก่อสร้างก็ยังคงมีสภาพเป็นเครื่องใช้อยู่เช่นเดิม
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าประเภทรับเหมาก่อสร้างแม้จะมีบานประตูไม้สักไว้ใช้ในการรับเหมาก่อสร้าง ก็เป็นการมีไว้ในความครอบครองเพื่อการค้าเช่นเดียวกัน หาจำเป็นต้องมีไว้เพื่อขายโดยตรงไม่
จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ซึ่งมีบานประตูไม้สักไว้ในครอบครองเพื่อการค้าจำเลยในฐานะผู้แทนนิติบุคคลเป็นผู้ลงมือกระทำการย่อมจะต้องรับผิดในทางอาญาด้วย คดีนี้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในฐานะตัวการผู้ร่วมกระทำผิดมิได้ลงโทษจำคุกในฐานะที่เป็นผู้แทนนิติบุคคล จึงไม่ขัดกับมาตรา 7 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีไว้ในความครอบครองเพื่อการค้าซึ่งบานประตูไม้สักจำนวน 8 บาน อันเป็นเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ภายในเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม มีปริมาณและขนาดเกินกว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดให้มีได้ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับลงวันที่ 24 มกราคม 2518 และฉบับลงวันที่ 22 สิงหาคม 2518ตามสำเนาประกาศท้ายฟ้องซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 53 ทวิ, 53 ตรี, 73 ทวิ, 74 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 21 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2522 มาตรา 8, 9 และขอให้ริบสิ่งประดิษฐ์เครื่องใช้ของกลางด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท กับริบบานประตูของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า ซึ่งบานประตูไม้สักจำนวน 8 บาน อันเป็นเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้สัก ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ภายในเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม มีปริมาณและขนาดเกินกว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดให้มีได้ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับลงวันที่ 24 มกราคม 2518 และฉบับลงวันที่ 22 สิงหาคม 2518 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจำเลยได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานตามกฎหมาย อันเป็นการบรรยายฟ้องโดยสมบูรณ์แล้ว แม้มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 จะบัญญัติให้คัดสำเนาประกาศปิดตามสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องก็เป็นเพียงกำหนดวิธีการให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติในการประกาศเท่านั้น หาใช่บทบัญญัติอันเป็นองค์ประกอบความผิดไม่ จึงไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องมาด้วย ถ้าหากจำเลยเห็นว่ายังไม่ได้มีการปิดประกาศตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งจะใช้บังคับจำเลยไม่ได้ ก็ชอบที่จะยกขึ้นต่อสู้ให้เป็นประเด็นแต่จำเลยมิได้ต่อสู้เช่นนั้น คงต่อสู้ตลอดมาว่าจำเลยมีบานประตูไม้สักของกลางไว้ในความครอบครองโดยชอบโดยมีหนังสือรับรองของนายอำเภอสูงเม่น ซึ่งแสดงว่าจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าบานประตูไม้สักเป็นเครื่องใช้ซึ่งอยู่ในข่ายควบคุมตามประกาศดังกล่าว จำเลยมิได้หลงต่อสู้แต่ประการใด ฟ้องของโจทก์จึงหาเคลือบคลุมไม่

บานประตูไม้สักมีสภาพเป็นเครื่องใช้ แม้จะเหลือจากการรับเหมาก่อสร้างก็ยังคงมีสภาพเป็นเครื่องใช้อยู่เช่นเดิม คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างก็วินิจฉัยว่าไม้สักบานประตูหน้าต่างสำเร็จรูปมีสภาพเป็นเครื่องใช้ไม่ใช่ไม้แปรรูป จำเลยจะอ้างมาเปรียบเทียบว่าบานประตูไม้สักไม่ใช่เครื่องใช้ฟังไม่ขึ้น

ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงใหม่แสงอำนวยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าประเภทรับเหมาก่อสร้าง แม้จะมีบานประตูไม้สักไว้ใช้ในการรับเหมาก่อสร้างก็เป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าเช่นเดียวกัน หาจำเป็นต้องมีไว้เพื่อขายโดยตรงไม่

จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงใหม่แสงอำนวยซึ่งมีบานประตูไม้สักของกลางไว้ในครอบครองเพื่อการค้า จำเลยในฐานะผู้แทนนิติบุคคลเป็นผู้ลงมือกระทำการย่อมจะต้องรับผิดในทางอาญาด้วยจะแก้ตัวว่าบานประตูไม้สักของกลางไม่อยู่ในความครอบครองของจำเลยหาได้ไม่ คดีนี้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในฐานะตัวการผู้ร่วมกระทำผิดมิได้ลงโทษจำคุกในฐานะที่เป็นผู้แทนนิติบุคคลจึงไม่ขัดกับบทบัญญัติมาตรา 7 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

แต่เห็นว่าความผิดของจำเลยไม่ร้ายแรงนักประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 3 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share