แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 มิได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่จะเสนอเรื่องราวร้องทุกข์จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 42 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ”
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อปี พ.ศ. 2525 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2527เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยกระทำการอันเป็นความผิดถือว่าฟ้องโจทก์มีรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุ พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วจำเลยจึงให้การรับสารภาพ ฟ้องโจทก์หาเคลือบคลุมไม่
ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติว่าพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่มีอำนาจสอบสวนและฟ้องคดีด้วยเหตุที่จำเลยยังทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาอยู่ ทั้งจำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพตามฟ้องซึ่งรวมตลอดถึงว่าคดีมีการสอบสวนโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี พ.ศ. 2525 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2527 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันอันเป็นเวลาภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ใช้บังคับ จำเลยซึ่งมิได้มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้เข้าไปยึดถือครอบครองปลูกสร้างอาคารร้านค้าในที่ดินสาธารณประโยชน์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดิน
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บา รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี กับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดิน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาปัญหาข้อแรกว่าประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521มาตรา 42 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ” จึงตกเป็นโมฆะ เห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวมิได้ปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่จะเสนอเรื่องราวร้องทุกข์แต่อย่างใด จึงไม่มีทางที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังที่จำเลยฎีกาได้ จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่าโจทก์มิได้ระบุเวลา วันที่และเดือนที่จำเลยกระทำความผิดจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมเห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า เหตุเกิดเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันส่วนที่ว่ามิได้ระบุวันที่และเดือนไว้นั้น ฟ้องโจทก์มีรายละเอียดไว้แล้วว่าเหตุเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2525 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2527 ถือได้ว่าพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จำเลยจึงให้การับสารภาพ ฟ้องโจทก์หาเคลือบคลุมไม่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่าโจทก์ไม่มีสิทธิดำเนินคดี เพราะจำเลยยังใช้สิทธิร้องทุกข์โดยกราบบังคมทูลอยู่ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจะมีอำนาจสอบสวนและฟ้องต่อเมื่อการกราบถวายบังคมทูลมีผลแล้วเท่านั้น เห็นว่าไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติว่าพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจสอบสวนและฟ้องคดีด้วยเหตุคดีด้วยเหตุที่จำเลยฎีกาดังกล่าวอีกทั้งจำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ซึ่งรวมตลอดถึงว่าคดีมีการสอบสวนโดยชอบแล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้
พิพากษายืน