คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6393/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ซ.ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่ท.และอ. พร้อมทั้งมอบโฉนดที่ดินให้ไว้ แต่มิได้จดทะเบียนการให้ ท.และอ.ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า10 ปี แล้วจึงยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและในการดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนของศาลไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือทายาทอื่นของซ.ไปแถลงคัดค้านหรือโต้แย้งทั้งมีการประกาศนัดไต่สวนให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบทั้งทางหนังสือพิมพ์และที่หน้าศาลและที่ต่าง ๆ อันเป็นการกระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณชนย่อมถือว่าทุกคนทราบประกาศดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้คดีตามคำร้องขอของท. ที่ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งดังกล่าวเป็นคำร้องขอฝ่ายเดียวที่ ไม่มีคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่จะต้องส่งหมายเรียกให้แก้คดี การที่ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของท. โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จึงชอบด้วยกฎหมายและถือได้ว่า ท. ใช้สิทธิโดยสุจริตแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นบุตรนายบุญนาคหรือนาคหรือนากกับนางเหรียมหรือเหรี่ยม สายงาม และเป็นน้องชายของนางอัมรา ศรียุคุณธร มารดาของจำเลยทั้งแปดบิดาโจทก์เป็นบุตรของนางเซี้ย สายงาม ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 313 เนื้อที่ 30 ไร่ บิดาโจทก์ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนนางเซี้ย นางเซี้ยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่3 พฤศจิกายน 2515 โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนางเซี้ย โดยการรับมรดกแทนที่ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2533นายทองหล่อ ศรียุคุณธร บิดาจำเลยทั้งแปด ได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยอ้างความเท็จว่านางเซี้ยได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายทองหล่อและนางอัมราแต่ไม่ได้มีการจดทะเบียนสิทธิการให้นายทองหล่อได้ครอบครองที่ดินโดยสงบเปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้วและแถลงเท็จต่อศาลว่าไม่ทราบว่าใครเป็นทายาทของนางเซี้ยบ้างทั้งไม่ทราบที่อยู่ด้วย ขอส่งสำเนาคำร้องขอให้ทายาทโดยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ทั้งที่นายทองหล่อทราบดีว่าโจทก์เป็นทายาทนางเซี้ย และทราบที่อยู่ของโจทก์ต่อมาศาลได้ไต่สวนคำร้องขอและมีคำสั่งว่านายทองหล่อได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 313 นายทองหล่อได้นำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนแก้ไขชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์เป็นชื่อของนายทองหล่อร่วมกับจำเลยทั้งแปด ต่อมานายทองหล่อถึงแก่กรรมจำเลยทั้งแปดจึงได้เข้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมในส่วนของนายทองหล่อเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 การกระทำของนายทองหล่อและจำเลยทั้งแปดเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับมรดกแทนที่บิดาโจทก์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งคำร้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 852/2533 ของศาลชั้นต้น ให้ศาลมีคำสั่งว่าการจดทะเบียนแก้ไขสารบัญการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 313จากนางเซี้ย สายงาม เป็นนายทองหล่อ ศรียุคุณธรเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2533 เป็นโมฆะ ให้ศาลมีคำสั่งว่าการจดทะเบียนให้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2534 ระหว่างนายทองหล่อกับจำเลยทั้งแปด เป็นโมฆะ และให้ศาลมีคำสั่งว่าการจดทะเบียนรับโอนมรดกเฉพาะส่วนของนายทองหล่อแก่จำเลยทั้งแปดเมื่อวันที่17 มีนาคม 2535 เป็นโมฆะ
จำเลยทั้งแปดให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นบุตรของนายบุญนาคหรือนาคหรือนากกับนางเหรียมหรือเหรี่ยมหรือเหลี่ยม สายงาม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 5 คน โดยมีนางอัมรา ศรียุคุณธร มารดาจำเลยทั้งแปดเป็นพี่คนโต นายบุญนาคบิดาโจทก์เป็นบุตรของนางเซี้ย สายงามเดิมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 313 เนื้อที่ 30 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของนางเซี้ย สายงาม ก่อนถึงแก่กรรมนางเซี้ยให้นางอัมราและสามีชื่อนายทองหล่อ ศรียุคุณธร ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยทั้งแปดและครอบครัวอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทและให้ทำนาในที่ดินพิพาท ต่อมานางเซี้ยได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 192และถึงแก่กรรมเมื่อปี 2515 ส่วนนายทองหล่อและนางอัมรายังครอบครองอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทตลอดมา ต่อมาปี 2533นายทองหล่อได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งศาลประกาศนัดไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายทองหล่อโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 852/2533 ของศาลชั้นต้น หลังจากนั้นนายทองหล่อจดทะเบียนให้จำเลยทั้งแปดมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย ต่อมานายทองหล่อถึงแก่กรรมจำเลยทั้งแปดได้จดทะเบียนรับโอนมรดกเฉพาะส่วนของนายทองหล่อมาเป็นของตน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่านายทองหล่อได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์และยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนโดยการครอบครองปรปักษ์เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานโจทก์จำเลยแล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อประมาณ ปี 2508 ถึง 2509นางเซี้ยได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่นายทองหล่อและนางอัมราพร้อมทั้งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้ไว้ แต่มิได้จดทะเบียนการให้นายทองหล่อและนางอัมราได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จึงยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และในการดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนของศาลนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือทายาทอื่นของนางเซี้ยไปแถลงคัดค้านหรือโต้แย้งแต่อย่างใดที่โจทก์ฎีกาว่านายทองหล่อบิดาจำเลยทั้งแปดปิดบังไม่ให้โจทก์ทราบนั้นก็ได้ความว่ามีการประกาศนัดไต่สวนให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบทั้งทางหนังสือพิมพ์และที่หน้าศาลและที่ต่าง ๆ อันเป็นการกระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณะชน ดังนั้น ย่อมต้องถือว่าทุกคนทราบประกาศดังกล่าวแล้ว การที่ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายทองหล่อโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 852/2533 ของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายและถือได้ว่านายทองหล่อใช้สิทธิโดยสุจริตแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2709/2532 และ 4828/2539 ที่โจทก์อ้างนั้นเป็นกรณีคดีที่มีโจทก์และจำเลยซึ่งต้องส่งหมายเรียกให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง แต่คดีตามคำร้องขอของนายทองหล่อที่ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งดังกล่าวเป็นคำร้องขอฝ่ายเดียวที่ไม่มีคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง จึงไม่อาจนำคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองคดีดังกล่าวมาเปรียบเทียบได้
พิพากษายืน

Share