แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์1,578,355.08 บาท โดยเป็นเงินต้น 785,056.68 บาท ดอกเบี้ย793,298.40 บาท ยอดดอกเบี้ยเป็นการคำนวณนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แม้ ต. จะให้การเป็นพยานเจ้าหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในชั้นสอบสวนว่าในส่วนของดอกเบี้ยเป็นการขอรับชำระนับแต่วันชำระครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏเหตุที่เจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยก่อนหน้านั้น การสอบสวนในเรื่องหนี้สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 105 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และทำความจริงในเรื่องหนี้สินให้ปรากฏ เมื่อ ต.ให้การถึงเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าว แต่เมื่อคำนวณแล้วปรากฏว่าต่างกับจำนวนดอกเบี้ยที่ขอรับชำระมาก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะต้องสอบสวนต่อไปว่าเหตุใดเจ้าหนี้จึงยื่นขอรับชำระเกินเพื่อให้ ต.อธิบาย ต. คำนวณแล้วก็จะทราบว่าที่ให้การไปนั้นผิดหลง ความจริงเป็นการขอรับชำระดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นมา มิใช่ถือโอกาสจากความผิดพลาดของพยานดังกล่าวมาเป็นเหตุอ้างมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในส่วนนั้นเป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ หนี้ค่าดอกเบี้ยจำนวน 286,366.85 บาท ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างว่าเจ้าหนี้ขอเกินมาเป็นหนี้ค่าดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดจนถึงวันที่มีการชำระหนี้ครั้งสุดท้ายจึงเป็นหนี้ที่ไม่ต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามที่ยื่นขอมาเต็มจำนวน
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด เจ้าหนี้ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เป็นเงินจำนวน 1,578,355.08 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า น่าเชื่อว่ามีมูลหนี้ต่อกันจริง และมูลหนี้ดังกล่าวไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 1,291,988.23 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 โดยมีเงื่อนไขว่า หากได้รับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกันแล้วเพียงใดก็ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ลดลงเพียงนั้น ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หนี้ค่าดอกเบี้ยที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างว่าขอเกินมานั้น เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหรือไม่เห็นว่า ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า เจ้าหนี้ขอรับชำระเกินมาก็เพราะเกิดจากนายเติมดวง นวลแข ผู้รับมอบอำนาจของเจ้าหนี้ได้ให้การเป็นพยานเจ้าหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในชั้นสอบสวนเรื่องหนี้สินว่า หนี้จำนวน 1,578,355.08 บาท ที่เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระนั้นเป็นหนี้เงินต้นจำนวน 785,056.68 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คือวันที่ 26เมษายน 2533 จำนวนเงิน 793,298.40 บาท โดยดอกเบี้ยที่ขอรับชำระอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีจากต้นเงิน 785,056.68 บาท นับแต่วันชำระครั้งสุดท้าย คือวันที่ 30 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงถือเอาคำให้การของนายเติมดวงในตอนท้ายว่า เจ้าหนี้ขอรับชำระในส่วนของดอกเบี้ยนับแต่วันที่มีการชำระครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมาคำนวณใหม่ได้เป็นเงินค่าดอกเบี้ยเพียง506,931.55 บาท มิใช่ 793,298.40 บาท ตามที่ขอมา แต่ตามคำขอรับชำระหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระ 1,578,355.08 บาท โดยเป็นเงินต้น 785,056.68 บาทดอกเบี้ยถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 793,298.40 บาทยอดดอกเบี้ยนี้ปรากฏตามบัญชีหนี้สินของจำเลย เอกสารหมาย จ.14 ว่าเป็นการคำนวณนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แม้นายเติมดวงจะให้การว่าในส่วนของดอกเบี้ยเป็นการขอรับชำระนับแต่วันชำระครั้งสุดท้ายคือวันที่ 30 ตุลาคม 2529จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏเหตุที่เจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระในส่วนของดอกเบี้ย ก่อนหน้านั้นการสอบสวนในเรื่องหนี้สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 105 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และทำความจริงในเรื่องหนี้สินให้ปรากฏเมื่อนายเติมดวงให้การถึงเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าว แต่เมื่อคำนวณแล้วปรากฏว่าต่างกับจำนวนดอกเบี้ยที่ขอรับชำระมาก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะต้องสอบสวนต่อไปว่าเหตุใดเจ้าหนี้จึงยื่นขอรับชำระเกินเพื่อให้นายเติมดวงอธิบาย นายเติมดวงคำนวณแล้วก็จะทราบได้ว่าที่ให้การไปนั้นผิดหลง ความจริงเป็นการขอรับชำระดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นมา มิใช่ถือโอกาสจากความผิดพลาดของพยานดังกล่าวมาเป็นเหตุอ้างมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในส่วนนั้นเป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ ฟังได้ว่าหนี้ค่าดอกเบี้ยจำนวน 286,366.85 บาท ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างว่าเจ้าหนี้ขอเกินมานั้นเป็นหนี้ค่าดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดจนถึงวันที่มีการชำระหนี้ครั้งสุดท้ายจึงเป็นหนี้ที่ไม่ต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามที่ยื่นขอมาเต็มจำนวน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน1,578,355.08 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์