แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียม ป.วิ.พ. มาตรา 161 บัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีการที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ต่ำกว่าที่โจทก์ขอมาในฟ้อง ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ศาลพิพากษาให้จำเลยรับผิดค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่ฟ้อง เป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบ.
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้โอนคดีสำนวนหลังของศาลจังหวัดมหาสารคามไปยังศาลแพ่งเพื่อรวมการพิจารณาพิพากษากับสำนวนแรก โดยโจทก์สองสำนวนฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานกระทำละเมิดจากจำเลยทั้งสองสำนวน จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิด เพื่อความสะดวกศาลชั้นต้นกำหนดให้เรียกโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 4 ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 5 ที่ 6และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 200,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน140,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 10,000 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 5 และที่ 6 จำนวน 300,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย และให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 5 และที่ 6 เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2
โจทก์ที่ 2 ในสำนวนแรก กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 170,000 บาท โจทก์ที่ 4จำนวน 3,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาข้อสุดท้ายว่าจำเลยควรรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีนั้น เห็นว่าในเรื่องความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง การที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ต่ำกว่าที่โจทก์ขอมาในฟ้องยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว”
พิพากษายืน.