คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6389/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ทำร้ายร่างกายซึ่งกัน โดยจำเลยที่ 1 ใช้ไม้กระบองเป็นอาวุธตีทำร้ายจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้ขวดสุราเป็นอาวุธตีทำร้ายจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 จำคุก 2 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 จะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนากระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาสรุปใจความได้เป็นข้อแรกว่า เหตุที่จำเลยที่ ๑ ใช้ไม้กระบองตามฟ้องเป็นอาวุธตีทำร้ายจำเลยที่ ๒ เนื่องจากจำเลยที่ ๒ ใช้ขวดสุราที่ทุบแตกเป็นปากฉลามเป็นอาวุธเข้ามาทำร้ายจำเลยที่ ๑ และยังมีพวกของจำเลยที่ ๒ ใช้ท่อนไม้เป็นอาวุธเข้ามาทำร้ายจำเลยที่ ๑ ด้วย จำเลยที่ ๑ จึงกระทำไปเพื่อป้องกันตัว มิได้มีเจตนาทำร้ายจำเลยที่ ๑ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง อันเป็นทำนองว่าจำเลยที่ ๑ มิได้กระทำความผิดนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ทำร้ายร่างกายซึ่งกัน โดยจำเลยที่ ๑ ใช้ไม้กระบองเป็นอาวุธตีทำร้ายจำเลยที่ ๒ ส่วนจำเลยที่ ๒ ใช้ขวดสุราเป็นอาวุธตีทำร้ายจำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ ๑ จะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีเจตนากระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยที่ ๑ ไม่เป็นความผิดตามฟ้องตามที่จำเลยที่ ๑ อ้างมาในฎีกาดังกล่าวข้างต้นนั้นหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๑ อีกด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าว จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๒๐ มาตรา ๓ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ในข้อนี้ให้…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ จำนวน ๔,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้ว คงปรับ ๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้ยกเสีย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๕ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ , ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑.

Share