คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6386/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ลูกจ้างที่ถูกสั่งพักงานเพื่อรอฟังผลการดำเนินคดี เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต ซึ่งนายจ้างมีสิทธิสั่งพักงานลูกจ้างได้โดยชอบ เมื่อลูกจ้างมิได้ทำงานในระหว่างพักงานตั้งแต่วันที่21 สิงหาคม 2522 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2529 ย่อมไม่มีงานที่มีคุณภาพและปริมาณงานอันสมควรที่จะได้เลื่อนบำเหน็จเพื่อตอบแทนผลงานที่ได้ปฏิบัติในรอบปีนั้นตามระเบียบ จึงไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนในระหว่างพักงาน เมื่อลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมจึงไม่มีค่าจ้างในส่วนที่เพิ่มขึ้นที่จะเรียกร้องจากนายจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งพักงานโจทก์ระหว่าง พ.ศ. 2522 ถึงพ.ศ. 2529 ทำให้โจทก์ไม่ได้รับการปรับค่าจ้าง 8 ปี จากค่าจ้างเงินเดือนละ 2,800 บาท ควรเป็นค่าจ้างที่ปรับใหม่เดือนละ 7,080 บาทขอให้ปรับค่าจ้าง จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนระหว่างถูกพักงาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยการพิจารณาบำเหน็จประจำปีของพนักงานพ.ศ. 2521 ข้อ 11 “การงดบำเหน็จแก่พนักงานต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งดังนี้…11.9 อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือทางคดีอาญาให้รอการพิจารณาบำเหน็จไว้ก่อน ถ้ามิได้กระทำผิดแต่มีมลทินมัวหมอง หรือถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด…ก็ให้งดบำเหน็จสำหรับปีที่เกิดเหตุนั้น” และตามระเบียบว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างประจำปีของพนักงาน พ.ศ. 2525 ข้อ 17″การพิจารณางดเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างพนักงานมีหลักเกณฑ์ดังนี้ 17.4 ในรอบปีของการพิจารณาความดีความชอบเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างถูกลงโทษทางวินัย หรืออยู่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือทางคดีอาญาให้รอการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างไว้ก่อน ถ้ามิได้กระทำผิดแต่มีมลทินมัวหมอง…ก็ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างสำหรับปีที่เกิดเหตุนั้น” กรณีของโจทก์ไม่เข้าข้อหนึ่งข้อใดในหลักเกณฑ์ตามระเบียบของจำเลยดังกล่าวที่จะต้องถูกงดเลื่อนขั้นเงินเดือน และการที่จำเลยไม่มีผลงานให้ปรากฏหรือมีเวลาทำงานไม่ครบ 8 เดือนในรอบปีก็เนื่องจากโจทก์ถูกจำเลยสั่งพักงาน จำเลยจึงต้องเลื่อนเงินเดือนให้โจทก์อย่างน้อยปีละ 1 ขั้นนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามระเบียบข้อที่โจทก์ยกขึ้นอ้างนั้น เป็นเรื่องที่พนักงานถูกสอบสวนทางวินัยหรือทางอาญาหากผลคดีหรือผลการสอบสวนพนักงานผู้นั้นไม่มีความผิดแต่มีมลทินมัวหมองก็ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือน กรณีดังกล่าวนี้เป็นกรณีเฉพาะพนักงานที่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือทางอาญา พนักงานผู้นั้นยังคงทำงานตามปกติตลอดมา ส่วนกรณีของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยสั่งพักงานเพื่อรอฟังผลการดำเนินคดีอาญา เนื่องจากโจทก์มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตซึ่งจำเลยมีสิทธิสั่งพักงานโจทก์ได้โจทก์ไม่ได้ทำงานตั้งแต่วันถูกพักงานคือวันที่ 21 สิงหาคม 2522ตลอดมา ฉะนั้นการพิจารณาความดีความชอบเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนของโจทก์จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบของจำเลยว่าด้วยการพิจารณาบำเหน็จประจำปีของพนักงานองค์การทอผ้า พ.ศ. 2521เอกสารหมาย ล.3 ข้อ 4 ว่า “การพิจารณาบำเหน็จประจำปี คือการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างเป็นบำเหน็จตอบแทนของผลงานที่พนักงานได้ปฏิบัติงานในรอบปีนั้น” และข้อ 9 “การเลื่อนบำเหน็จ 1 ขั้น แก่พนักงานให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยที่จะขอให้พนักงานได้โดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้… 9.2 ได้ปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและปริมาณของงานสมควรที่จะได้เลื่อนบำเหน็จ” เมื่อโจทก์มิได้ทำงานให้จำเลยระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2522 ถึงวันที่1 ธันวาคม 2529 เนื่องจากถูกจำเลยสั่งพักงานจึงไม่มีงานที่มีคุณภาพและปริมาณงานอันสมควรที่จะได้เลื่อนบำเหน็จเพื่อตอบแทนผลงานที่ได้ปฏิบัติในรอบปีนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนในระหว่างถูกพักงานตามระเบียบของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.3 ดังกล่าว ต่อมาจำเลยได้มีระเบียบว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างประจำปีของพนักงาน พ.ศ. 2525 ตามเอกสารหมาย ล.1ใช้แทนระเบียบของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 11.2 ซึ่งได้แก้ไขโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ตามเอกสารหมาย ล.2 ว่า “ในรอบปีงบประมาณที่แล้ว มีเวลาทำงานรวมกันไม่น้อยกว่า 8 เดือน” และข้อ11.3 ว่า “ในรอบปีของการพิจารณาความดีความชอบเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างได้ปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและปริมาณของงานได้รับการประเมินผลอยู่ในเกณฑ์ดีปานกลาง” ฉะนั้นเมื่อโจทก์ไม่ได้ทำงานในระหว่างถูกพักงานดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่มีเวลาทำงานและไม่มีผลงานที่จะเป็นความดีความชอบอันจะนำมาพิจารณาเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนในระหว่างถูกพักงานเช่นเดิม จึงไม่มีค่าจ้างในส่วนที่เพิ่มขึ้นที่โจทก์จะเรียกร้องจากจำเลยได้ ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share