คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 217/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับการจ้างกรรมการควบคุมและดำเนินการจ้างซ่อมทำนบดินตามโครงการสร้างงานในชนบทจำเลยได้ประชุมราษฎรในหมู่บ้านตกลงลดค่าจ้างขุดดินซ่อมทำนบดังกล่าวให้น้อยลงกว่าที่มีการอนุมัติเพื่อให้ได้จำนวนดินมากขึ้นให้ทำนบมีความแข็งแรงเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อมาราษฎรได้รับจ้างขุดดินตามที่ได้มีการตกลงกัน จำเลยได้ร่วมกันทำเอกสารหนังสือขอเบิกเงิน งบใบสำคัญ หนังสือรายงานผลการดำเนินการจ้างแรงงาน ใบตรวจรับการจ้างแรงงาน ระบุรายละเอียดค่าแรงงาน จำนวนดินค่าคุมงานต่าง ๆ ให้ตรงกับที่ได้รับอนุมัติและเป็นหลักฐานว่าได้ดำเนินการแล้วเพื่อขอเบิกเงินจากทางราชการมาจ่ายให้แก่ราษฎรผู้รับจ้าง ดังนี้ เมื่อปรากฏว่ายอดเงินที่ระบุในเอกสารทั้งสี่ฉบับตรงกับยอดเงินที่จำเลยได้จ่ายให้แก่ราษฎรไปแล้ว จำนวนดินที่ไม่ตรงกันนั้นก็ขุดได้มากกว่าที่ระบุไว้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยคนใดทุจริตได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว แม้จำนวนดินและจำนวนเงินที่ระบุในเอกสารจะไม่ตรงกับความจริงไปบ้าง ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ร่วมกันทำเอกสารและรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ
เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นตามฟ้องจำเลยอื่นซึ่งโจทก์ฟ้องว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดจึงไม่ได้กระทำผิดเช่นกันเพราะเมื่อไม่มีการกระทำผิดจึงไม่อาจเกิดการกระทำที่เป็นการสนับสนุนให้กระทำผิดได้เหตุดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดี แม้ศาลฎีกาจะไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอื่นเนื่องจากต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดถึงจำเลยอื่นว่าไม่มีความผิดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งแปดกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกระทง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๑, ๑๕๗, ๑๖๒,๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๘๓, ๘๖, ๙๐, ๙๑ ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาเงิน ๒๕,๖๙๗.๖๐ บาทแก่เจ้าของทรัพย์
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘ ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ ๑ ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๕ ที่ ๖ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๑, ๑๕๗, ๑๖๒, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๘๓, ๙๐ ซึ่งแก้ไขแล้วจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๗ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๑, ๑๕๗, ๑๖๒, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๘๖, ๙๐ ซึ่งแก้ไขแล้ว ลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๕ ที่ ๖ ตามมาตรา ๑๔๗, ๑๕๑, ๘๓ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ ๖ ปี ลงโทษจำเลยที่ ๓ที่ ๔ และที่ ๗ ตามมาตรา ๑๔๗, ๑๕๑, ๘๖ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ ๔ ปี ให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ ร่วมกันคืนหรือใช้ราคา ๒๕,๖๙๗.๖๐ บาท แก่เจ้าของทรัพย์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ ไม่มีความผิดตามฟ้องข้อ ก.และ ง. ให้ยกฟ้อง ๒ ข้อหาดังกล่าวเสียด้วย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๕ ที่ ๖ คนละ ๕ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ ฎีกาให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ ๒ ถึงแก่ความตายจึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสำหรับจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๗ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุกคนละ ๔ ปี ฎีกาของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๗ ทุกข้อเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ได้ร่วมกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่นำสืบรับกันและไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๕ ที่ ๖ เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๖ ที่ ๑ และที่ ๗ และเป็นกรรมการสภาตำบลกล้วยกว้าง กิ่งอำเภอห้วยทับทัน โดยตำแหน่ง จำเลยที่ ๔ เป็นกรรมการสภาตำบลกล้วยกว้างผู้ทรงคุณวุฒิ สภาตำบลกล้วยกว้างได้ประชุมมีมติให้เริ่มโครงการสร้างงานชนบทซ่อมทำนบดินบ้านไฮใหญ่ ตำบลกล้วยกว้างพร้อมทั้งแต่งตั้งจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๗ เป็นกรรมการควบคุมงานและดำเนินการจ้างแต่งตั้งจำเลยที่ ๑ ที่ ๕ และที่ ๖ เป็นคณะกรรมการตรวจรับการจ้าง จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นกำนันและเป็นประธานสภาตำบลกล้วยกว้างโดยตำแหน่งได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมสภาตำบลแล้ว เฉพาะจำเลยที่ ๒ ที่ ๕ ที่ ๖ เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่บริหารงานของสภาตำบลตามที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการและผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๑๑โดยเฉพาะงานในหน้าที่ตามโครงการสร้างงานในชนบทตามที่กล่าวในฟ้องเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๒๙ จำเลยที่ ๒ ได้ประชุมราษฎรในหมู่บ้าน ได้ตกลงลดค่าจ้างขุดดินซ่อมทำนบดังกล่าวเหลืออัตราเดียวคือ ลูกบาศก์เมตรละ ๒๐ บาท เพื่อให้ได้จำนวนเนื้อที่ดินมากขึ้นแต่ใช้เงินเท่าเดิม และระหว่างวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ ราษฎรตำบลกล้วยกว้างได้รับจ้างขุดดินซ่อมทำนบดังกล่าวโดยยอมรับค่าจ้างในอัตราลูกบาศก์เมตรละ ๒๐บาทเพียงอัตราเดียว แล้วทางราชการจังหวัดศรีสะเกษได้เบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินจำนวน ๗๖,๖๔๐ บาทตามที่สภาตำบลกล้วยกว้างขอเบิกโดยมีหลักฐานการจ่ายเงินตามแบบพิมพ์ กสช.๗ ซึ่งมีผู้รับจ้างลงลายมือชื่อรับเงินและจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่๗ ลงลายมือชื่อรับรอง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๓ ถึง จ.๘ ส่งไปพร้อมงบใบสำคัญแบบ กสช.๙ คำสั่งแต่งตั้งกรรมการดำเนินงานตามโครงการสร้างงานในชนบทรายงานผลการดำเนินการจ้างแรงงานราษฎรและควบคุมงานกับใบตรวจรับการจ้างแรงงาน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๙ ถึง จ.๑๒โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๗ ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.๑๑ จริง เงินจำนวน ๗๖,๖๔๐ บาท เมื่อหักเงินค่าควบคุมงาน ๔ คน คนละ ๒๐ วัน วันละ ๔๕ บาท เป็นเงิน ๓,๖๐๐ บาท คงเหลือเป็นเงินที่ต้องจ่ายให้ราษฎรผู้รับจ้างเป็นเงิน ๗๓,๐๔๐ บาท และเงินจำนวนนี้ได้หมดไปแล้ว (ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยหลอกลวงราษฎร จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องข้อ ก. และฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้เบียดบังเอาเงินจำนวน ๒๕,๖๙๗.๖๐ บาทไว้เป็นประโยชน์ของตนโดยทุจริต จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องข้อ ข.) คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยได้ร่วมกันทำเอกสารและรับรองเอกสารอันเป็นเท็จตามฟ้องข้อ ค. หรือไม่ เห็นว่า เอกสารที่โจทก์อ้างว่าเป็นเอกสารเท็จคือหนังสือขอเบิกเงินเอกสารหมาย จ.๒ งบใบสำคัญเอกสารหมาย จ.๙ หนังสือรายงานผลการดำเนินการจ้างแรงงานราษฎรและควบคุมงานเอกสารหมาย จ.๑๑ ใบตรวจรับการจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.๑๒ ซึ่งเอกสารหมาย จ.๑๑ เป็นหนังสือที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๗ ผู้คุมงานถึงประธานสภาตำบลกล้วยกว้างว่าได้ทำการจ้างและควบคุมงานโครงการที่ ๓ ประเภท ๑ซ่อมทำนบดินหมู่ที่ ๖ ตำบลกล้วยกว้าง เป็นเงินทั้งสิ้น ๗๖,๘๔๐บาท ได้ดำเนินการแล้ว โดยการจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการสร้างงานในชนบท พ.ศ. ๒๕๒๔ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการจ้างและควบคุมงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอเชิญคณะกรรมการตรวจรับการจ้างมาตรวจรับและเบิกจ่ายให้แก่ราษฎรต่อไป ซึ่งจำเลยที่ ๑ ก็มีคำสั่งให้แจ้งคณะกรรมการตรวจรับและเบิกจ่ายเงินต่อไป เอกสารหมาย จ.๑๒ เป็นใบตรวจรับการจ้างและตรวจรับการจ้างแรงงานซึ่งมีข้อความสรุปว่า ผู้รับจ้างได้ดำเนินการเสร็จแล้วตามรายละเอียดเป็นเงิน ๗๖,๖๔๐ บาท ได้ถูกต้องตรงกับโครงการที่ กสจ. อนุมัติแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๕ และที่ ๖ ลงลายมือชื่อในฐานะประธานกรรมการและกรรมการลำดับเอกสารหมาย จ.๒ เป็นหนังสือขอเบิกเงินจำนวน ๗๖,๖๔๐ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นซึ่งไม่ใช่จำเลย ทางอำเภออุทุมพรพิสัยได้ตรวจสอบถูกต้องและอนุมัติให้จ่าย และเอกสารหมาย จ.๙ เป็นงบหน้าใบสำคัญซึ่งจำเลยที่ ๑ และกรรมการสภาตำบลอีก ๕ คนลงลายมือชื่อ ซึ่งเอกสารทั้งหมดได้ระบุรายละเอียดค่าแรงงาน จำนวนดินค่าคุมงาน และจำนวนเงิน ตรงกันทั้งสี่ฉบับ ซึ่งเอกสารทั้งสี่ฉบับนี้ รายละเอียดจำนวนค่าแรงงาน จำนวนดิน ค่าคุมงาน และรวมยอดเงินตรงตามเอกสารหมาย จ.๑ แบบเสนอรายละเอียดและค่าใช้จ่ายของโครงการซ่อมแซมและต่อเติมทำนบซึ่งกสจ.ได้อนุมัติแล้ว เมื่อยอดเงินที่ระบุในเอกสารทั้งสี่ฉบับตรงกับยอดเงินที่จำเลยนำสืบว่าได้นำไปจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่ราษฎรหมดไปแล้ว จำนวนดินที่ไม่ตรงกันแต่ตามความจริงได้จำนวนดินถึง ๓,๖๕๒ ลูกบาศก์เมตร มากกว่าที่ระบุไว้ในโครงการเสียอีก ส่วนอัตราค่าจ้างความสูง ๑ เมตรแรก อัตราลูกบาศก์เมตรละ ๒๐ บาท ส่วนความสูงเมตรที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ตรงตามที่ได้จ้างราษฎร แต่ก็ปรากฏว่าราษฎรผู้รับจ้างขุดได้พร้อมใจกันลดราคาลงเหลือลูกบาศก์เมตรละ ๒๐ บาทเท่ากันหมดเพื่อจะให้ได้จำนวนดินมากให้ทำนบมีความแข็งแรงและกักเก็บน้ำได้จำนวนมากอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม การที่จำเลยดังกล่าวทำรายละเอียดตามที่ระบุในเอกสารทั้งสี่ฉบับก็เพื่อให้ตรงตามที่ได้รับอนุมัติเพื่อจะได้เบิกเงินมาจ่ายให้ราษฎรที่รับจ้างได้ เมื่อได้รับเงินมาแล้วก็จ่ายให้ราษฎรไปทั้งหมด โดยไม่ปรากฏว่ามีจำเลยคนใดทุจริต ได้ประโยชน์จากการปฏิบัติงานตามโครงการดังกล่าว แม้จำนวนดินและจำนวนเงินที่ระบุในเอกสารจะไม่ตรงกับความเป็นจริงไปบ้าง ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ร่วมกันทำเอกสารและรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ข้อ ค. ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปว่า คดีนี้ยังฟังไม่ถนัดว่า เอกสารหมาย จ.๓ ถึง จ.๘ เป็นเอกสารปลอมจำเลยที่ ๕และที่ ๖ จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมและใช้เอกสารปลอมตามฟ้องข้อ ง.
เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าได้มีการกระทำผิดเกิดขึ้นตามฟ้องข้อ ก.ข.ค. และ ง. จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๗ ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำผิดตามฟ้องข้อ ก. ข้อ ข. และข้อ ค. และรวมกระทำผิดตามฟ้องข้อ ง. จึงไม่ได้กระทำผิดเช่นกัน เพราะเมื่อไม่มีการกระทำผิดจึงไม่อาจเกิดการกระทำที่เป็นการสนับสนุนให้กระทำผิดได้ อันเป็นเหตุในลักษณะคดีแม้ศาลฎีกาจะไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๗ดังกล่าวไว้ในตอนต้น ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดถึงจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๗ ว่าไม่มีความผิดตามฟ้องทุกข้อหาได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓ ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ ทุกข้อหา นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share