คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3951/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงท้ากันโดยให้ถือเอาผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 26580/2545 ของศาลอาญา เป็นผลแพ้ชนะกันในประเด็นข้อพิพาทคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่ โดยในคำท้าไม่มีเงื่อนไขอย่างอื่น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นศาลตาม ป.อ. มาตรา 198 ประกอบมาตรา 83 แม้ศาลฎีกาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 และ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคสอง ก็ตาม ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาก็ตรงตามคำท้าที่ตกลงกันตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ชัดเจนว่า หากศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิด โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นฝ่ายชนะคดีนี้ โดยไม่มีข้อความใดที่จะแปลได้เลยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องกระทำความผิดทุกข้อหา กรณีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 200,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
ก่อนศาลมีคำสั่งรับฟ้อง โจทก์ที่ 4 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องเฉพาะในส่วนของโจทก์ที่ 4
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงกันให้ถือเอาผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 26580/2545 ของศาลอาญา เป็นข้อแพ้ชนะสำหรับประเด็นข้อพิพาทที่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่ โดยท้ากันว่าหากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิด โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นฝ่ายชนะคดี แต่หากศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นฝ่ายแพ้คดี ส่วนของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาลว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จ้างวานใช้หรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันที่ 28 สิงหาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันรับผิดตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ชนะคดี ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 5 ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2545 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 สำหรับจำเลยที่ 3 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 3 และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 16 มีนาคม 2558 และวันที่ 20 เมษายน 2558 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงท้ากัน โดยให้ถือเอาคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 26580/2545 ของศาลอาญา เป็นผลแพ้ชนะกันในประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่ ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ประกอบมาตรา 83 โดยให้รอการกำหนดโทษภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 20 เมษายน 2558 ระบุว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายยืนยันคำท้าตามรายงานกระบวนพิจารณาในนัดที่แล้ว (หมายถึงรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 16 มีนาคม 2558) ว่าขอให้ถือเอาผลคำพิพากษาศาลฎีกาของคดีอาญาเป็นผลแพ้ชนะในคดีนี้ในประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ หากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิด ประเด็นข้อพิพาทในศาลแพ่งนี้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ชนะคดี หากศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นฝ่ายแพ้คดี นั้น ปรากฏว่าในคดีอาญาดังกล่าวโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างก็เป็นคู่ความ โดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นโจทก์ร่วม ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองฝ่ายต่างทราบดีอยู่แล้วว่าในคดีอาญาดังกล่าวพนักงานอัยการฟ้องขอให้ลงโทษหลายข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 198, 326, 328, 393 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคสอง แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงท้ากันโดยให้ถือเอาผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 26580/2545 ของศาลอาญา เป็นผลแพ้ชนะกันในประเด็นข้อพิพาทคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่ โดยในคำท้าไม่มีเงื่อนไขอย่างอื่น ดังนั้น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ประกอบมาตรา 83 แม้ศาลฎีกาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคสอง ก็ตาม ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาก็ตรงตามคำท้าที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงกันตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ชัดเจนว่าหากศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิด โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นฝ่ายชนะคดีนี้ โดยไม่มีข้อความใดที่จะแปลได้เลยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องกระทำความผิดทุกข้อหา กรณีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยให้เหตุผลและรายละเอียดไว้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามที่โจทก์ที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ และฎีกาโจทก์ที่ 3 กับฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 3 หรือไม่ เพียงใดนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามฟ้องไม่ใช่งานที่กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และไม่มีส่วนรู้เห็น กับไม่ได้นำสืบรับว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามฟ้องเป็นการกระทำของตัวแทนและหรือในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เช่นนี้ ทั้งศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3706/2547 ของศาลอาญาว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงนำมารับฟังในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามฟ้องที่จะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ดังนั้น จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่ เพียงใดนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 บัญญัติเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนว่าจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดจะปรากฏแก่ศาลได้ก็มาจากคู่ความนำสืบพยานหลักฐานให้ปรากฏข้อเท็จจริงของการกระทำละเมิด คดีนี้เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ก็เท่ากับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธว่าไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 มีภาระต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับความเสียหายถูกดูหมิ่น ดูถูก เกลียดชัง ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณ ในทางทำมาหาได้หรือทางเจริญเป็นเงินคนละวันละ 500,000 บาท ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 นำสืบมาเป็นการนำสืบกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานคนกลางและหรือพยานเอกสารใดมาสืบให้เห็นว่า หนังสือพิมพ์แนวหน้าได้พิมพ์จำหน่ายถึงวันละ 50,000 ฉบับ มีคนอ่านข้อความที่จำเลยที่ 1 เขียนถึงวันละ 500,000 คน และโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับความเสียหายในวงกว้างที่ถูกดูหมิ่น ดูถูก เกลียดชังเพียงใด ได้รับความเสียหายในทางทำมาหาได้หรือทางเจริญที่มีผู้อ่านข้อความที่จำเลยที่ 1 เขียน อย่างไร เพียงใด โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงได้รับความเสียหายถึงคนละ 50,000,000 บาท และเมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนค่าสินไหมทดแทนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ลดค่าสินไหมทดแทนลงจากที่ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ให้โจทก์คนละ 50,000,000 บาท เหลือคนละ 3,000,000 บาท บ่งชี้ว่าเป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนตามอำเภอใจไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง แสดงให้เห็นว่าพยานหลักฐานที่นำสืบเป็นเพียงความเสียหายที่คาดคะเนเอาเองไม่อาจรับฟังเช่นนั้นได้และจะเป็นจริงหรือไม่ก็ไม่อาจยืนยันได้ จึงไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ศาลอุทธรณ์จะนำมาพิจารณากำหนดค่าสินไหมทดแทนให้สูงไปกว่านี้ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้รับความเสียหายจึงไม่สมควรได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือควรได้รับค่าสินไหมทดแทนน้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 300,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว สำหรับค่าเสียหายในส่วนดอกเบี้ยนั้น แม้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จะบรรยายมาในคำฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2544 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดก็ตาม แต่เมื่อคำขอท้ายฟ้องระบุเพียงว่าขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ประสงค์จะได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดหรือไม่ เห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังที่ได้กล่าวมาชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับปัญหาดังกล่าวไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่โจทก์ที่ 3 ทั้งหมดและให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กึ่งหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share