คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5001/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ 2 ครั้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องฉบับแรกให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 8 สิงหาคม 2559 ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ 2 กันยายน 2559 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลอนุญาต รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ โดยมิได้มีคำสั่งในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับที่ 2 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ธุรการมิได้นำคำร้องฉบับที่ 2 ของโจทก์กลัดเข้าสำนวน และเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดและยกอุทธรณ์ของโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นตรวจสอบ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 22 กรกฎาคม 2559 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 2 จริง ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นไม่ได้กลัดคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับที่ 2 เข้าสำนวนทำให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยผิดหลงว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก เมื่อความผิดพลาดเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ศาลมิใช่โจทก์ และศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ศาลอนุญาตไว้ กรณีอนุมานได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องฉบับที่ 2 ของโจทก์แล้วโดยปริยาย เมื่อนับถึงวันที่ 2 กันยายน 2559 ยังไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาต อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และมาตรา 247 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยเผยแพร่รายงานการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมโดยติดประกาศที่บอร์ดของอาคาร เอ และอาคาร บี หรือส่งให้แก่เจ้าของร่วมทางไปรษณีย์ภายใน 30 วัน นับแต่วันประชุมจัดทำรายละเอียดการประชุมสามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2558 กับวาระที่ 3 เพิ่มเติมให้ครบถ้วน และเผยแพร่ให้เจ้าของร่วมโดยด่วน จัดประชุมใหญ่เพื่อขอสัตยาบรรณ (ที่ถูก สัตยาบัน) นิติกรรมสัญญาต่าง ๆ ดำเนินการไปแล้ว เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ข้อ 3.3 ถึง 3.5 ข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 7 และข้อ 8 กับมีคำสั่งว่ามติของที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวเป็นโมฆะ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไว้และศาลชั้นต้นอนุญาตแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ธุรการของศาลชั้นต้นมิได้นำคำร้องกลัดเข้าสำนวน จึงทำให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดและยกอุทธรณ์ของโจทก์ นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ 2 ครั้ง คือ คำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2559 โดยขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2559 และคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 2 ฉบับลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 โดยขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2559 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องฉบับแรกให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 8 สิงหาคม 2559 ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ 2 กันยายน 2559 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลอนุญาต รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ โดยมิได้มีคำสั่งในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับที่ 2 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ธุรการมิได้นำคำร้องฉบับที่ 2 ของโจทก์กลัดเข้าสำนวน และเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ 2 กันยายน 2559 โดยไม่ปรากฏว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดและยกอุทธรณ์ของโจทก์ หลังจากนั้นวันที่ 10 เมษายน 2560 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นตรวจสอบ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 2 จริง ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นไม่ได้กลัดคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับที่ 2 เข้าสำนวนทำให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยผิดหลงว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก เมื่อความผิดพลาดเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ศาลมิใช่โจทก์ และศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ศาลอนุญาตไว้ กรณีอนุมานได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องฉบับที่ 2 ของโจทก์แล้วโดยปริยาย เมื่อนับถึงวันที่ 2 กันยายน 2559 ยังไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาต อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) และมาตรา 247 (เดิม) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share