คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต และการจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า เป็นความผิดคนละตอนแยกกันได้ จำเลยมีกระสุนปืนจำนวน 51 นัด ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตและในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้จำหน่ายกระสุนปืนดังกล่าวไปจำนวน 25 นัด ดังนี้เป็นความผิด 2 กรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ เวลากลางวัน จำเลยมีกระสุนปืนลูกซองขนาดเบอร์ ๑๒ จำนวน ๕๑ นัด ไว้ในครอบครองเพื่อขายจำหน่าย อันเป็นการมีไว้สำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต กับจำเลยได้จำหน่ายกระสุนปืนดังกล่าวจำนวน ๒๕ นัดแก่ผู้มีชื่อ อันเป็นการจำหน่ายสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๒๔, ๒๕, ๗๒, ๗๓ ฯลฯริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ข้อหามีเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองสำหรับการค้า จำคุก ๒ ปี ข้อหาจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าจำคุก ๒ ปี รวม ๒ กระทงจำคุก ๔ ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๒ ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังว่า วันเกิดเหตุจำเลยมีกระสุนปืนลูกซองเบอร์ ๑๒ จำนวน ๕๑ นัด ไว้ในความครอบครองเพื่อขายหรือจำหน่ายอันเป็นการมีไว้สำหรับการค้าโดยมิได้รับอนุญาต และในวันเดียวกันจำเลยได้จำหน่ายกระสุนปืนที่จำเลยมีอยู่นั้นจำนวน ๒๕ นัดให้แก่ผู้มีชื่ออันเป็นการจำหน่ายสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวกัน ผิดกฎหมายหลายบทนั้น เห็นว่าการมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นความผิดคนละตอนแยกกันได้จากการจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า ดังนั้นการที่จำเลยมีกระสุนปืนลูกซองเบอร์ ๑๒ จำนวน ๕๑ นัดไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นความผิดกรรมหนึ่ง และการที่จำเลยได้จำหน่ายกระสุนปืนดังกล่าวไปจำนวน ๒๕ นัดอันเป็นการจำหน่ายเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง กรณีมิใช่เป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวกันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกา
พิพากษายืน

Share