แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ว. ถูกผู้เสียหายกับพวกจับกุมในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ว. เสนอให้สินบนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท แต่เงินของ ว. อยู่ที่บ้าน ว. ขอโทรศัพท์บอกให้จำเลยนำเงินมาให้ ผู้เสียหายจึงคืนโทรศัพท์ของ ว. แก่ ว. จากนั้น ว. โทรศัพท์ติดต่อไปยังจำเลยให้จำเลยนำเงินของ ว. มาให้ เมื่อจำเลยเดินทางมาถึงสถานีตำรวจและพบ ว. แล้ว ว. กับจำเลยช่วยกันนับเงินครบ 500,000 บาท และส่งมอบเงินให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงจับกุมและแจ้งข้อหาแก่จำเลย และ ว. ว่าร่วมกันทำให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นกรณีที่ ว. เป็นผู้เสนอให้สินบนแก่ผู้เสียหายเอง มิใช่ผู้เสียหายเป็นผู้เรียกร้อง ว. จึงมีเจตนาที่จะกระทำผิดอยู่แล้ว โดยผู้เสียหายไม่มีส่วนก่อให้ ว. กระทำความผิด การที่ผู้เสียหายยินยอมให้โทรศัพท์ถูกยึดไปแล้วคืนแก่ ว. เพื่อให้ ว. โทรศัพท์ติดต่อไปยังจำเลยก็เป็นเพียงขั้นตอนในการรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ส่วนการที่ผู้เสียหายไม่ห้าม ว. มิให้กระทำความผิดจึงไม่มีผลทำให้การกระทำของ ว. กับจำเลยไม่เป็นความผิดไปได้ แต่เมื่อจำเลยไม่มีเจตนาจะมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับ ว. มาตั้งแต่ต้น คงนำเงินมาให้ตามที่ ว. โทรศัพท์ไปเท่านั้น เมื่อนำเงินมาถึงก็ส่งมอบเงินแก่ ว. มิได้ส่งมอบแก่ผู้เสียหายโดยตรง การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่ตัวการ แต่เป็นเพียงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 86 ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาและข้อแตกต่างที่พิจารณาได้มิใช่สาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องและเป็นคุณแก่จำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185, 192 วรรคสอง, 215 และ 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 144 และริบเงินของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 144 จำคุก 6 เดือน และให้ริบเงินของกลางจำนวน 500,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยศาลชั้นต้นรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยเป็นน้องสาวของนายวิรัตน์ จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3307/2559 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 พันตำรวจโทอรรถการ รองผู้กำกับการ กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทรา กับพวกร่วมกันจับกุมนายวิรัตน์พร้อมเมทแอมเฟตามีน 85 เม็ด ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ในระหว่างนายวิรัตน์ถูกผู้เสียหายกับพวกควบคุมตัวอยู่นั้น นายวิรัตน์เสนอให้สินบนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท แต่เงินของนายวิรัตน์อยู่ที่บ้านจำเลย นายวิรัตน์ขอโทรศัพท์บอกให้จำเลยนำเงินมาให้ ผู้เสียหายจึงคืนโทรศัพท์ของนายวิรัตน์แก่นายวิรัตน์ จากนั้นนายวิรัตน์โทรศัพท์ติดต่อไปยังจำเลย ให้จำเลยนำเงินของนายวิรัตน์มาให้ เมื่อจำเลยเดินทางมาถึงสถานีตำรวจและพบนายวิรัตน์แล้ว นายวิรัตน์กับจำเลยช่วยกันนับเงินครบ 500,000 บาท และส่งมอบเงินให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงจับกุมและแจ้งข้อหาแก่จำเลยกับนายวิรัตน์ว่าร่วมกันให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องนายวิรัตน์และจำเลยต่อศาลชั้นต้น นายวิรัตน์ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 เดือน ส่วนจำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์จึงแยกฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า การกระทำของผู้เสียหายเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดและเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายวิรัตน์ถูกผู้เสียหายจับกุม นายวิรัตน์เป็นผู้เสนอจะให้สินบนแก่ผู้เสียหายเอง มิใช่ผู้เสียหายเป็นผู้เรียกร้อง นายวิรัตน์จึงมีเจตนาที่จะกระทำความผิดอยู่แล้ว ผู้เสียหายไม่มีส่วนก่อให้นายวิรัตน์กระทำความผิด ส่วนการที่ผู้เสียหายยินยอมให้โทรศัพท์ที่ถูกยึดไปแล้วคืนแก่นายวิรัตน์เพื่อให้นายวิรัตน์โทรศัพท์ติดต่อไปยังจำเลยก็เป็นเพียงขั้นตอนในการรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ถือว่าเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิด หากผู้เสียหายห้ามนายวิรัตน์ ความผิดคดีนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น เห็นว่า หน้าที่ป้องกันย่อมไม่ใช่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำความผิด ซึ่งการที่เจ้าพนักงานตำรวจแต่ละคนจะห้ามปรามสั่งสอนผู้ที่จะกระทำความผิดไม่ให้กระทำความผิดหรือไม่นั้นเป็นเรื่องดุลพินิจเฉพาะตัวของเจ้าพนักงานตำรวจแต่ละคน การที่ผู้เสียหายไม่ห้ามนายวิรัตน์มิให้กระทำความผิดจึงไม่มีผลทำให้การกระทำของนายวิรัตน์กับจำเลยไม่เป็นความผิดไปได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยนั้นแสดงให้เห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนาจะมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับนายวิรัตน์มาตั้งแต่ต้น คงนำเงินมาให้ตามที่นายวิรัตน์โทรศัพท์ไปเท่านั้น เมื่อเดินทางมาถึงก็นำเงินมอบให้นายวิรัตน์ มิได้ส่งมอบให้แก่ผู้เสียหายโดยตรง การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่ตัวการ แต่เป็นเพียงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนผู้อื่นให้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ปัญหาข้อนี้แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา และข้อแตกต่างที่พิจารณาได้มิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องและเป็นคุณแก่จำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 192 วรรคสอง, 215 และ 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 86 จำคุก 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ทั้งเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งความผิดของจำเลยแล้ว กรณีมีเหตุอันควรปราณี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2