คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3281/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาตัวแทนตามคำฟ้องเป็นสัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทยกับจำเลยซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเบรเมิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี การที่คู่สัญญาตกลงกันให้นำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าวซึ่งมีลักษณะเป็นการให้บริการระหว่างประเทศไปฟ้องยังศาลแห่งเมืองเบรเมิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งถือเป็นภูมิลำเนาของจำเลยจึงสามารถทำได้ตามหลักกฎหมายทั่วไประหว่างประเทศ ไม่ตกเป็นโมฆะ
สำหรับการตีความสัญญานั้นต้องตีความไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักปฏิบัติและกฎหมายไทยด้วย การที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งนำกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration) มาเป็นหลักในการพัฒนานั้น มีบทบัญญัติให้คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ และผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดนั้นก็อาจพิสูจน์เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้เช่นกัน แต่ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้คู่พิพาทหรือคู่สัญญาต้องนำข้อพิพาทไปฟ้องร้องต่อศาลจนมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเสียก่อน แล้วจึงอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นต่ออนุญาโตตุลาการ แม้การระงับข้อพิพาทของคู่ความมีด้วยกันหลายวิธี การนำคดีขึ้นสู่ศาลย่อมเป็นทางเลือกสุดท้าย ดังคำกล่าวว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ดังนั้น การแปลและตีความสัญญาตัวแทนซึ่งมีข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตามที่จำเลยนำสืบมาจึงรับฟังได้ว่า คู่สัญญาประสงค์ให้ทั้งสองฝ่ายตกลงหาทางระงับข้อพิพาทร่วมกันก่อนเป็นอันดับแรก หากตกลงเจรจากันไม่สำเร็จ คู่สัญญาสามารถเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในย่อหน้าที่สองได้ ส่วนศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาไม่ว่าจะเป็นการร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดหรือคัดค้านเพื่อไม่ให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในย่อหน้าแรก สัญญาข้อดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ โดยไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้
เมื่อสัญญามีข้อตกลงให้ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการอันถือว่าเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 แล้ว แม้ต่อมาสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลง ก็มิใช่กรณีมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง โจทก์และจำเลยยังมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเมื่อข้อพิพาทเกิดขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 979,465.75 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 38,942,187.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 900,800 ยูโร หรือเท่ากับ 35,814,546.88 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ในวันที่จำเลยยื่นคำให้การ จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 อ้างว่า ตามสัญญาตัวแทนดังกล่าวในเรื่องการระงับข้อพิพาท ข้อ 18 ย่อหน้าที่สอง กำหนดให้โจทก์และจำเลยระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าวด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการ โดยมีความหมายในภาษาไทยว่า “โดยไม่ส่งผลกระทบต่อย่อหน้าก่อนหน้านี้ จำเลยและโจทก์แต่ละฝ่ายมีสิทธิมอบข้อพิพาทต่อศาลอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทและข้อเรียกร้องทั้งปวงที่เกิดจากสัญญาฉบับนี้ การมอบข้อพิพาทต่อและคำชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการเป็นที่สุดและผูกพันทั้งจำเลยและโจทก์ ให้มีการจัดตั้งศาลอนุญาโตตุลาการและให้ศาลอนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนการพิจารณาตามข้อบังคับว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสวิสที่สภาหอการค้าในเมืองซูริค ประเทศสมาพันธรัฐสวิส ให้ศาลอนุญาโตตุลาการประกอบไปด้วยอนุญาโตตุลาการหนึ่งนายที่ได้รับแต่งตั้งโดยประธานสภาหอการค้าในเมืองซูริค ให้ใช้ภาษาอังกฤษในการทำการอนุญาโตตุลาการ” เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจึงต้องระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงไม่มีสิทธิดำเนินคดีนี้ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทั้งกรณีไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้หรือมีเหตุที่ทำให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของจำเลย
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการให้มีการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามที่ได้ตกลงกันไว้ คืนค่าขึ้นศาลให้แก่โจทก์ทั้งหมดจำนวน 200,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมอื่นของทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายประเทศไทย มีวัตถุประสงค์หลักเป็นตัวแทน ตัวแทนค้าต่าง และนายหน้าในกิจการและธุรกิจทุกประเภทรวมถึงการค้ายุทธภัณฑ์ทุกชนิดที่ใช้ในราชการสงคราม จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเบรเมิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2552 โจทก์ทำสัญญาตัวแทน (Agency Agreement) กับจำเลยเพื่อเป็นตัวแทนจำเลยในการเจรจาติดต่อประสานงานกับกองทัพเรือไทยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 สัญญาดังกล่าวระบุเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทไว้ในข้อ 18 มีข้อความในย่อหน้าแรกว่า “Disputes arising from this Ageement shall be settled first in the sense of this Agreement by mutual arrangement. If such an arrangement cannot be reached, the place of jurisdiction for all possible disputes – also those resulting from legal documents, deeds, bill of exchange and cheques – is Bremen (the courts of the City of Bremen). ATLAS is, however, also entitled to the appropriate courts having jurisidiction over the registered office of the Agent.” และย่อหน้าที่ 2 ว่า “Without prejudice to the foregoing, ATLAS and the Agent are by their own entitled to appeal to Arbitration Court of Disputes and claims arising from this Agreement. The appeal to and the award of the Arbitration Court shall be final and binding on both ATLAS and the Agent. The Arbitration Court shall be established and shall proceed in accordance with Swiss Rules of International Arbitration at the Chamber of Commerce in Zurich/Switzerland. The Arbitration Court shall include one arbitrator, appointed by the President of the Chamber of Commerce in Zurich. The language of arbitration shall be English.” โดย “ATLAS” หมายถึงจำเลย และ”the Agent” หมายถึงโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ให้จำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหานี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สัญญาตัวแทนตามคำฟ้องข้อ 18 ย่อหน้าแรก ที่ตกลงให้เฉพาะจำเลยเท่านั้นมีสิทธิฟ้องคดีในศาลไทย โดยตัดสิทธิมิให้โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีในศาลไทยนั้นตกเป็นโมฆะ แต่สัญญาข้อ 18 ย่อหน้าที่สอง ที่ระบุให้คู่สัญญาสามารถนำคดีไปสู่การวินิจฉัยโดยอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นข้อตกลงที่เป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกับย่อหน้าแรก และสัญญาก็ตกลงชัดแจ้งให้แยกส่วนข้อตกลงที่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่ไม่เป็นโมฆะได้ ข้อตกลงในส่วนอนุญาโตตุลาการตามย่อหน้าที่สองจึงมีผลใช้บังคับระหว่างคู่สัญญาได้ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำแปลสัญญาตัวแทน ข้อ 18 เรื่องการระงับข้อพิพาทที่จำเลยแปลไว้ในคำให้การ และคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 เปรียบเทียบกับคำแปลสัญญาข้อที่ 18 ของโจทก์ และคำแปลสัญญาข้อดังกล่าวของโจทก์ในคำคัดค้าน ประกอบกับทางนำสืบของแต่ละฝ่ายแล้ว ในส่วนของสัญญาข้อ 18 ย่อหน้าแรกนั้น ทั้งโจทก์และจำเลยต่างแปลไปในทำนองเดียวกันโดยมีใจความสรุปได้ว่า หากมีข้อพิพาทอันเกิดจากสัญญานี้ ให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันตามนัยของสัญญานี้ก่อนเป็นอันดับแรก หากการตกลงร่วมกันเช่นว่าไม่ประสบความสำเร็จ สถานที่ที่มีเขตอำนาจสำหรับข้อพิพาททั้งปวงที่อาจเกิดขึ้น คือ เบรเมิน (ศาลแห่งเมืองเบรเมิน) อย่างไรก็ตามจำเลยยังมีสิทธิฟ้องโจทก์ต่อศาลในประเทศไทยอันเป็นสถานที่ที่โจทก์ได้จดทะเบียนสำนักงานไว้ได้ ดังนี้เห็นได้ว่า สัญญาตัวแทนตามคำฟ้องเป็นสัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทยกับจำเลยซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเบรเมิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี การที่คู่สัญญาตกลงกันให้นำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าวซึ่งมีลักษณะเป็นการให้บริการระหว่างประเทศไปฟ้องยังศาลแห่งเมืองเบรเมิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งถือเป็นภูมิลำเนาของจำเลยจึงสามารถทำได้ตามหลักกฎหมายทั่วไประหว่างประเทศ ไม่ตกเป็นโมฆะดังที่โจทก์อุทธรณ์ สำหรับสัญญาข้อ 18 ย่อหน้าที่สอง ที่กล่าวถึงกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสมาพันธรัฐสวิสที่สภาหอการค้าในเมืองซูริค ประเทศสมาพันธรัฐสวิส นั้น ทั้งสองฝ่ายต่างแปลและตีความในตอนต้นที่ระบุถึงการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการไว้แตกต่างกัน โดยจำเลยแปลและตีความทำนองว่า แต่ละฝ่ายมีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่อศาลอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทและข้อเรียกร้องทั้งปวงที่เกิดจากสัญญาฉบับนี้ หากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งนำคดีไปสู่ศาลตามย่อหน้าแรก คู่สัญญาอีกฝ่ายก็อาจยกข้อสัญญาในย่อหน้าที่สองนี้เพื่อให้ศาลจำหน่ายคดีไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนได้ ส่วนโจทก์แปลและตีความทำนองว่า แต่ละฝ่ายมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอนุญาโตตุลาการสำหรับข้อพิพาทและข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากสัญญาฉบับนี้ แต่การจะนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการได้ จะต้องดำเนินการตามย่อหน้าแรกจนศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเสียก่อน แล้วจึงอุทธรณ์ไปยังอนุญาโตตุลาการได้ เห็นว่า ในการตีความสัญญานั้นต้องตีความไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักปฏิบัติและกฎหมายไทยด้วย โดยตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งนำกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration) มาเป็นหลักในการพัฒนานั้น มีบทบัญญัติให้คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ และผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดนั้นก็อาจพิสูจน์เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้เช่นกัน แต่ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้คู่พิพาทหรือคู่สัญญาต้องนำข้อพิพาทไปฟ้องร้องต่อศาลจนมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเสียก่อน แล้วจึงอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นต่ออนุญาโตตุลาการ แม้การระงับข้อพิพาทของคู่ความมีด้วยกันหลายวิธี การเป็นความนำคดีขึ้นสู่ศาลย่อมเป็นทางเลือกสุดท้ายดังคำกล่าวว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน การที่โจทก์แปลและตีความสัญญาในข้อที่ 18 ย่อหน้าที่สองคำว่า “appeal to Arbitration Court” หมายถึงการอุทธรณ์ต่ออนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับหลังจากย่อหน้าแรกที่ต้องฟ้องคดีต่อศาลจนมีคำสั่งหรือคำพิพากษาซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนนั้น จึงขัดต่อหลักปฏิบัติและพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 การแปลและตีความในลักษณะที่โจทก์นำสืบจึงมีผลให้สัญญาข้อ 18 ทั้งข้อไร้ผล ในขณะที่จำเลยนำสืบเกี่ยวกับคำแปลและการตีความสัญญาข้อดังกล่าวในทำนองที่เป็นผลบังคับได้ โดยนำสืบถึงคำว่า “appeal” ในภาษาเยอรมันนั้นอาจมีความหมายได้หลายประการ และอาจแปลว่า “การร้องขอ” หรือ “ยื่นต่อ” ได้ ซึ่งสัญญาข้อ 18 ย่อหน้าที่สอง ไม่น่าหมายถึงกระบวนการยื่นอุทธรณ์จากศาลชั้นต้นไปสู่อนุญาโตตุลาการ และนายมัทเทียส พยานจำเลยซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ก็ไม่เคยเห็นกระบวนการเช่นนี้มาก่อน พยานจึงเห็นว่า คำว่า “appeal” ในสัญญาข้อดังกล่าวหมายถึงการนำไปสู่การยื่นหรือการมอบต่ออนุญาโตตุลาการ ซึ่งในประเด็นนี้โจทก์ก็ไม่ได้ถามค้านพยานจำเลยปากดังกล่าวไว้ ทั้งเมื่อพิจารณาสัญญาข้อ 18 ย่อหน้าที่สอง ที่เริ่มต้นด้วยข้อความว่า “Without prejudice to the foregoing,…” ซึ่งแปลได้ว่า “โดยไม่กระทบกระเทือนต่อข้อความในย่อหน้าแรก…” แล้ว เห็นได้ว่าการที่คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามย่อหน้าที่สองนั้น ไม่ทำให้ข้อตกลงที่กำหนดให้ต้องมีการตกลงหาทางระงับข้อพิพาทกันเองก่อนและการกำหนดเขตอำนาจศาลในย่อหน้าแรกเสียไป สัญญาข้อดังกล่าวทั้งสองย่อหน้าจึงไม่มีลักษณะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขบังคับหลังต่อกันดังที่โจทก์อุทธรณ์ การแปลและตีความสัญญาในข้อ 18 ตามที่จำเลยนำสืบมานั้นจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 18 คู่สัญญาประสงค์ให้ทั้งสองฝ่ายตกลงหาทางระงับข้อพิพาทร่วมกันก่อนเป็นอันดับแรก หากตกลงเจรจากันไม่สำเร็จ คู่สัญญาสามารถเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในย่อหน้าที่สองได้ ส่วนศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาไม่ว่าจะเป็นการร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดหรือคัดค้านเพื่อไม่ให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในย่อหน้าแรก สัญญาข้อดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ โดยไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความเพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการให้มีการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า สัญญาตัวแทนตามคำฟ้องมีกำหนดเวลาสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2557 สัญญาดังกล่าวจึงสิ้นสุดลงแล้ว คู่สัญญาย่อมหมดความผูกพันและไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาซึ่งรวมถึงข้อ 18 ย่อหน้าที่สองอีกต่อไปด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาตามคำฟ้องมีข้อตกลงให้ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น อันถือว่าเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 แล้ว แม้ต่อมาสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลง ก็มิใช่กรณีมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง โจทก์และจำเลยยังมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าว เมื่อข้อพิพาทเกิดขึ้น อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน และเมื่อวินิจฉัยได้ความดังนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์อื่นของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share