แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมีข้อความกำหนดไว้ว่าห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันต้องส่งหนังสือรับรองของหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงถึงรายนามผู้เป็นหุ้นส่วน หุ้นส่วนผู้จัดการ และอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งคำขอดังกล่าวเป็นแบบพิมพ์ของโจทก์ที่กำหนดขึ้นเองเพื่อใช้แก่กรณีที่ผู้ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลโดยเฉพาะข้อกำหนดดังกล่าวมีไว้เพื่อประโยชน์ของโจทก์เองที่จะได้ทราบว่าผู้ที่โจทก์เข้าทำสัญญาด้วยเป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจริงและผู้มาขอเปิดบัญชีเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนห้างดังกล่าวซึ่งนับว่าเป็นสาระสำคัญของการเข้าทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดเพื่อให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ใช้เช็คของโจทก์และโจทก์สามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาหากมีต่อไปได้แต่โจทก์กลับไม่เรียกให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเพียงหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ส่งหนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 คงเชื่อเพียงข้ออ้างของจำเลยที่ 2ว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 เพราะเหตุที่มีตราประทับของจำเลยที่ 1 มาด้วยเท่านั้น เป็นการที่โจทก์เข้าทำสัญญานั้นทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และตราประทับนั้นเป็นตราของจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ตลอดจนห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 จะมีอยู่จริงหรือไม่ ถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ผู้ประกอบธุรกิจธนาคารซึ่งหากโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งหนังสือรับรองของหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามที่โจทก์กำหนดไว้เอง โจทก์ก็จะทราบได้โดยง่ายว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ต้องเสียหายเพราะการที่ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 2 เปิดบัญชีในนามของจำเลยที่ 1 ประกอบกับไม่ปรากฎว่าก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมายื่นคำขอเปิดบัญชี จำเลยที่ 2 เคยมาติดต่อกับโจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1 มาก่อน ทั้งไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 ได้นำเงินที่เบิกจากโจทก์ไปใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 ตลอดจนไม่ปรากฎพฤติการณ์อื่นใดในขณะที่จำเลยที่ 2 มาขอเปิดบัญชีกับโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ได้เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือรู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตนเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821กรณีจึงไม่อาจให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และมีจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2527จำเลยที่ 2 ได้ไปติดต่อกับโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 ขอเปิดบัญชีกระแสรายวันหรือบัญชีเดินสะพัด โดยตกลงที่จะปฏิบัติตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ และยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2527 จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ได้สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีไป และค้างชำระแก่โจทก์อยู่เพียงวันที่ 27 พฤษภาคม 2528 เป็นเงินจำนวน 275,369.59 บาทโจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 275,369.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยก่อนฟ้องจำนวน 152,396.32 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงิน 275,369.59 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยขอเปิดบัญชีกระแสรายวันหรือบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์ และไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการแต่อย่างใด โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินไปในทางส่วนตัว ไม่เคยนำเงินมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้จำนวน275,369.59 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีนับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2528 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529 ถึงวันที่4 มีนาคม 2529 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่5 มีนาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องห้ามมิให้เกินจำนวน 152,396.32 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1และที่ 3 ให้เป็นพับทั้งสองศาล นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันต้องส่งหนังสือรับรองของหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงถึงรายนามผู้เป็นหุ้นส่วน หุ้นส่วนผู้จัดการ และอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งคำขอดังกล่าวเป็นแบบพิมพ์ของโจทก์ที่กำหนดขึ้นเองเพื่อใช้กับกรณีที่ผู้ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลโดยเฉพาะ ข้อกำหนดดังกล่าวมีไว้เพื่อประโยชน์ของโจทก์เองที่จะได้ทราบว่าผู้ที่โจทก์เข้าทำสัญญาด้วยเป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจริง และผู้มาขอเปิดบัญชีเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนห้างดังกล่าวซึ่งนับว่าเป็นสาระสำคัญของการเข้าทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดเพื่อให้จำเลยที่ 1ใช้เช็คของโจทก์ และโจทก์สามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาหากมีต่อไปได้ แต่โจทก์กลับไม่เรียกให้จำเลยที่ 2ส่งหนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 คงเชื่อเพียงข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 เพราะเหตุที่มีตราประทับของจำเลยที่ 1 มาด้วยเท่านั้นเป็นการที่โจทก์เข้าทำสัญญานั้นทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และตราประทับนั้นเป็นตราของจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ ตลอดจนห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 จะมีอยู่จริงหรือไม่ ถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ผู้ประกอบธุรกิจธนาคาร ซึ่งหากโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งหนังสือรับรองของหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามที่โจทก์กำหนดไว้เองโจทก์ก็จะทราบได้โดยง่ายว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ต้องเสียหายเพราะการที่ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 2 เปิดบัญชีในนามของจำเลยที่ 1 ประกอบกับทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฎว่าก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมายื่นคำขอเปิดบัญชีจำเลยที่ 2เคยมาติดต่อกับโจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1 มาก่อนทั้งไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 ได้นำเงินที่เบิกจากโจทก์ไปใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 ตลอดจนไม่ปรากฎพฤติการณ์อื่นใดในขณะที่จำเลยที่ 2มาขอเปิดบัญชีกับโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ได้เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือรู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 2เชิดตนเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 กรณีจึงไม่อาจให้จำเลยที่ 1และที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ได้
พิพากษายืน