คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3924/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2534ศาลชั้นต้นสั่งในวันเดียวกันว่า “รับอุทธรณ์ผู้คัดค้าน สำเนาให้ผู้ร้อง ให้ผู้คัดค้านนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้ร้องภายใน 7 วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 15 วัน เพื่อดำเนินการต่อไป มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฟ้องอุทธรณ์” ผู้คัดค้านได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายในกำหนดแล้ว ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2534พนักงานส่งหมายรายงานว่า ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ น. ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ร้องไม่ได้ จากผลดังกล่าวผู้คัดค้านต้องแถลงให้ศาลทราบภายใน 15 วัน ว่าจะจัดการอย่างไรต่อไปกล่าวคือต้องแถลงภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2534 ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 รองจ่าศาลได้รายงานให้ศาลทราบว่า ผู้คัดค้านไม่ได้แถลงภายในกำหนด ถือว่าผู้คัดค้านจงใจทิ้งฟ้องอุทธรณ์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า นางนิภา มั่นบุญสม อยู่กินฉันท์สามีภรรยากับพันเอกสุวรรณ ศุภประเสริฐ ผู้ตาย โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตร ๓ คน คือผู้ร้องทั้งสาม ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๓๓ พันเอกสุวรรณถึงแก่กรรม ระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ได้ให้ความอุปการะเลี้ยงดูบุตร โดยแสดงต่อมหาชนทั่วไปว่าเป็นบุตรที่แท้จริงของตนตลอดจนให้การศึกษาและให้ใช้ชื่อสกุล จึงขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องทั้งสามเป็นบุตรของพันเอกสุวรรณ ศุภประเสริฐ ผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพันเอกสุวรรณผู้ตาย นางนิภาไม่เคยแสดงตนว่าเป็นภรรยาของผู้ตาย ผู้ตายไม่ได้อยู่กินกับนางนิภามารดาของผู้ร้องทั้งสามอย่างเปิดเผย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้มีคำสั่งว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เด็กหญิงสุกรรยา ศุภประเสริฐ เด็กหญิงศุภวรรณศุภประเสริฐ และเด็กหญิงวรรณภา ศุภประเสริฐ เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันเอกสุวรรณ ศุภประเสริฐ ผู้ตาย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๓๔ ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์แล้วสั่งในวันเดียวกันว่า “รับอุทธรณ์ผู้คัดค้าน สำเนาให้ผู้ร้อง ให้ผู้คัดค้านนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้ร้องภายใน ๗ วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน ๑๕ วัน เพื่อดำเนินต่อไป มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฟ้องอุทธรณ์” ผู้คัดค้านได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายในกำหนดแล้ว ต่อมาวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๓๔ พนักงานส่งหมายรายงานว่า ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่นางนิภา มั่นบุญสม ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ร้องไม่ได้ จากผลดังกล่าวผู้คัดค้านต้องแถลงให้ศาลทราบภายใน ๑๕ วัน ว่าจะจัดการอย่างไรต่อไป กล่าวคือ ต้องแถลงภายในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ครั้นต่อมาวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ รองจ่าศาลได้รายงานให้ศาลทราบว่า ผู้คัดค้านไม่ได้แถลงภายในกำหนด ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า ผู้คัดค้านจงใจทิ้งฟ้องอุทธรณ์หรือไม่ ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านไม่ได้จงใจที่จะเพิกเฉยต่อคำสั่งของศาลชั้นต้นเนื่องจากภายหลังที่ผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์แล้ว นายพัทพงษ์ แขกเพ็ง ทนายความของผู้คัดค้านได้ย้ายภูมิลำเนาจากบ้านที่กรุงเทพมหานครไปอยู่บ้านมารดาที่จังหวัดชลบุรีเป็นการชั่วคราว และไม่ได้ติดต่อมาทางบ้านที่กรุงเทพมหานครอีกเลย จึงไม่ทราบผลการส่งหมายว่าเป็นอย่างไร เพิ่งมาทราบเมื่อได้รับหมายนัดให้ไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เหตุที่มีโอกาสได้รับหมายนัดเพราะทนายผู้คัดค้านได้ย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านที่กรุงเทพมหานคร และอีกอย่างหนึ่งผู้คัดค้านเห็นว่าเป็นการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ผู้ร้องซึ่งมีภูมิลำเนาที่อยู่แน่นอนอยู่แล้วและทั้งเป็นฝ่ายเริ่มคดีคงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนั้น เห็นว่า การที่ทนายผู้คัดค้านได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยชอบและหลังจากที่ได้นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แล้ว ทนายผู้คัดค้านได้ย้ายภูมิลำเนาจากบ้านที่กรุงเทพมหานครไปอยู่บ้านมารดาที่จังหวัดชลบุรีโดยมิได้สั่งความไว้กับผู้ใดและไม่ได้ติดต่อมาที่บ้านกรุงเทพมหานครอีกโดยคาดคิดหรือคาดคะเนเหตุการณ์เอาเองว่า การส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ผู้ร้องคงจะไม่มีปัญหา จึงไม่ได้ติดตามฟังข่าวผลของการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์นั้นมิใช่เหตุผลที่จะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวได้ตามกฎหมาย ไม่ใช่วิสัยของทนายความที่จะกระทำเช่นนั้นแต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมด้วยนั้นไม่ถูกต้อง สมควรแก้ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น และค่าทนายความชั้นฎีกาแทนผู้ร้อง โดยกำหนดเป็นค่าทนายความรวม ๒,๐๐๐ บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share