คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5332/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะ อันเป็นการเรียกร้องให้ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ผู้เป็นทายาท จึงเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นบุตรของนายอุดม สุวรรณวงษ์ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่จำเลย พินัยกรรมไม่เป็นโมฆะเพราะผู้ตายได้ทำพินัยกรรมด้วยความสมัครใจ จำเลยมิได้ทุจริตสมคบกับบุคคลภายนอกกระทำขึ้นแต่ประการใด เป็นความสมัครใจและเป็นความประสงค์ของผู้ตายที่ยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลย ขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะและเข้าใจเรื่องการทำพินัยกรรมดี ผู้ตายไม่ประสงค์จะยกทรัพย์มรดกให้โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ นายอุดม สุวรรณวงษ์ บิดาจำเลย และนางสาวสมจิตต์สุวรรณวงษ์ ผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ผู้ตายป่วยเป็นโรคมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองและถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2528 ปรากฏตามภาพถ่ายใบมรณบัตร เอกสารหมาย จ.1 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นโมฆะหรือไม่…จึงเชื่อได้ว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.2 และขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติรู้เรื่องดี พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.2 จึงไม่เป็นโมฆะ…
ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้มีประเด็นเพียงว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ หากฟังว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะ ก็เป็นเพียงทำให้ทรัพย์สินกลายเป็นมรดกตกแก่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกมีอยู่หลายคน ไม่ใช่โจทก์คนเดียว คดีนี้จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะ อันเป็นการเรียกร้องให้ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ผู้เป็นทายาทจึงเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามราคาทรัพย์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรม คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ หาใช่เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่…”
พิพากษายืน.

Share