คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 572/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปกครองทางด้านการแสดงภาพยนตร์และเป็นเจ้าของไข้ของ จ. ได้กล่าวต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์จำเลยที่ 2 ว่า ‘นอกจากไม่นับถือ ไม่เชื่อถือแล้วยังเห็นว่า ศิษย์ตถาคตผู้นุ่งเหลืองห่มเหลือง ประพฤติตัวไม่อยู่ในสมณวิสัยด้วย’ และ ‘ทุกๆ วันที่ปัญหาเดือดร้อนรำคาญมากกับหมอเถื่อนหมอดี ทั้งที่เป็นฆราวาส ทั้งห่มผ้าเหลือง วันหนึ่งๆ มีเป็นสิบๆ คนไปรออยู่หน้าห้อง กล้องถ่ายรูปก็พร้อม เราก็กันไว้ไม่ให้ไป เพราะการรักษาควรจะเป็นเรื่องของแพทย์ เปิ้ลจะหายหรือไม่ก็อยู่ที่หมอ ไม่ใช่อยู่กับคนที่ยืนสวดมนต์ชักลูกประคำพวกนี้ อยากจะบอกฝากไปถึงด้วยว่า ถ้าอยากดังนักก็ขอให้ไปดังที่อื่น คนป่วยของผมต้องการพักผ่อนอย่าได้ไปรบกวนกันเลย’ การที่จำเลยที่ 1 กล่าวเช่นนั้นเนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นพระภิกษุได้ไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้แก่ จ. ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขนาดแพทย์ห้ามเยี่ยมในห้องพักคนไข้ของโรงพยาบาลที่ จ. นอนพักรักษาตัวอยู่ชิดเตียงที่ จ. นอนป่วยอันเป็นสิ่งไม่ควรปฏิบัติตามวิสัยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา อันมีเหตุให้จำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่าการกระทำของโจทก์มิใช่กิจอันอยู่ในสมณวิสัยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม หรือติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุในศาสนาประจำชาติ อันเป็นวิสัยของจำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329(1)(3) จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ลงข้อความดังกล่าวจึงไม่มีความผิดด้วย.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328, 83 และมาตรา 332 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 2 และหนังสือพิมพ์รายวันอื่นๆ อีก 2 ฉบับ เป็นเวลา 7 วัน โดยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ส่วนข้อเท็จจริงต้องฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปกครองทางด้านการแสดงภาพยนตร์ของนางสาวจารุณี สุขสวัสดิ์ ได้ทราบข่าวว่าโจทก์ซึ่งเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ได้ไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์ขจัดวิบากกรรมอันเป็นการรักษาความเจ็บป่วยของนางสาวจารุณี สุขสวัสดิ์ และนางสาวเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงในห้องพักคนไข้ของโรงพยาบาลลานนาซึ่งนางสาวจารุณีและนางสาวเนาวรัตน์นอนพักรักษาตัวอยู่ และแพทย์ห้ามเยี่ยม แล้วจำเลยที่ 1 ได้กล่าวต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์จำเลยที่ 2 ว่า ‘นอกจากไม่นับถือ ไม่เชื่อถือแล้วยังเห็นว่าศิษย์ตถาคตผู้นุ่งเหลืองห่มเหลือง ประพฤติตัวไม่อยู่ในสมณวิสัยด้วย’ และ ‘ทุกๆ วันที่ปัญหาเดือดร้อนรำคาญมาก กับหมอเถื่อน หมอดี ทั้งที่เป็นฆราวาส ทั้งห่มผ้าเหลืองวันหนึ่งๆ มีเป็นสิบๆ คน ไปรออยู่หน้าห้อง กล้องถ่ายรูปก็พร้อม เราก็กันไว้ไม่ให้ไป เพราะการรักษาควรเป็นเรื่องของแพทย์ เปิ้ลจะหายหรือไม่ก็อยู่ที่หมอ ไม่ใช่อยู่กับคนที่ยืนสวดมนต์ชักลูกประคำพวกนี้ อยากจะบอกฝากไปถึงด้วยว่า ถ้าอยากดังก็ขอให้ไปดังที่อื่น คนป่วยของผมต้องการพักผ่อน อย่าได้ไปรบกวนกันเลย’ คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวนั้นสืบเนื่องมาจากโจทก์ได้ไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์ขจัดวิบากกรรมให้แก่นางสาวจารุณีซึ่งปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล. 3 ว่า โจทก์ได้ไปกระทำพิธีดังกล่าวชิดเตียงที่นางสาวจารุณีนอนป่วยอยู่ อันเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติตามวิสัยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาทั้งยังขัดต่อประกาศคณะสงฆ์ เรื่องห้ามพระภิกษุสามเณรประกอบอาชีพเป็นหมอหรือแพทย์รักษาโรค ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2499 กับประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง ห้ามภิกษุสามเณรเรียกเงินค่าเวทมนต์และห้ามทดลองของขลัง ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2495 อีกด้วย นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้ปกครองทางด้านการแสดงภาพยนตร์และเป็นเจ้าของไข้ของนางสาวจารุณี เมื่อ นางสาวจารุณีบาดเจ็บสาหัสถึงขนาดแพทย์ที่ทำการรักษาห้ามคนเยี่ยมเด็ดขาด การที่โจทก์เข้ามาทำพิธีสะเดาะเคราะห์ขจัดวิบากกรรมตามวิธีที่โจทก์เชื่อถือจึงอาจเป็นการรบกวนการพักผ่อนของนางสาวจารุณีและทำให้การรักษาพยาบาลของแพทย์ไม่ประสบผลดีเท่าที่ควรก็เป็นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติ ได้กระทำการอันมีเหตุที่จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า การกระทำของโจทก์มิใช่กิจอันอยู่ในสมณวิสัย ข้อความที่จำเลยกล่าวข้างต้นจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม หรือติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุในศาสนาประจำชาติ อันเป็นวิสัยของจำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) (3) จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ลงข้อความซึ่งจำเลยที่ 1 กล่าวจึงไม่มีความผิดด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share