แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่1ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกในเวลาที่กฎหมายกำหนดไม่ใช่เหตุที่จะต้องถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกเสมอไปและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1731ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่ามีเหตุสมควรที่จะถอนผู้จัดการมรดกเพียงใดหรือไม่เมื่อจำเลยที่1จัดการมรดกโดยสุจริตและได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทบ้างแล้วและเตรียมที่จะแบ่งต่อไปโดยไม่ได้ปิดบังมรดกแต่อย่างใดจึงยังไม่สมควรจะถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดก
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอบังคับให้ถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5044 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2534 กับระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวตามคำขอโอนมรดกลงวันที่ 4 ธันวาคม 2534 และระหว่างจำเลยที่ 1ในฐานะส่วนตัวกับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วน ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2534 กลับคืนเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสำราญ ทับเอี่ยม ร่วมกับนางสนม ทับเอี่ยม จำเลยที่ 1มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย คำขออื่นให้ยก
โจทก์ ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ถอนจำเลยที่ 1จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายสำราญ ทับเอี่ยม ให้โจทก์ที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของนายสำราญ มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายต่อไปและเพิกถอนการจดทะเบียนเกี่ยวแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5044 ตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ลงวันที่ 8สิงหาคม 2534 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวตามคำขอโอนมรดก ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2534และระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวกับจำเลยที่ 3 ที่ 4ตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วนลงวันที่ 20 ธันวาคม 2534กลับคืนเป็นทรัพย์มรดกของนายสำราญเพื่อแบ่งปันกันใหม่
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนายสำราญผู้ตายกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ทั้งสอง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 นายสำราญได้ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายสำราญ จำเลยที่ 1 ไม่ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5044 ให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่ได้โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โดยตั้งใจจะโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 4998ซึ่งอยู่ห่างจากที่ดินโฉนดเลขที่ 5044 ประมาณ 3 เส้น ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 5 ไร่ แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมรับโดยมีความประสงค์ขอแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 5044 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 5044 ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4โดยไม่สุจริต มีเหตุควรเพิกถอนตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานว่าระหว่างที่นายสำราญยังมีชีวิตอยู่ นายสำราญและพยานได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 7222 มาและให้ลงชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของจำนวนประมาณ 26 ไร่ ตามเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้ขายที่ดินดังกล่าวไปแล้ว โจทก์ที่ 2 ได้รับแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 4711จำนวน 24 ไร่ ตามเอกสารหมาย ล.1 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ได้รับแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 5044 ตามสัดส่วนที่แต่ละคนทำนาตั้งแต่นายสำราญยังมีชีวิตอยู่แต่ยังไม่ได้โอนทางทะเบียนหลังจากนายสำราญถึงแก่ความตายและจำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ได้มีการปรึกษากันระหว่างทายาทของนายสำราญ โจทก์ทั้งสองแจ้งว่าจะไม่ขอแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 5044เพราะได้รับที่ดินแปลงอื่นไปบ้างแล้วและที่ประชุมได้ตกลงจะแบ่งที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 5 ไร่ จำเลยที่ 1จึงได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5044 ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ตามที่แต่ละคนครอบครองมาก่อนที่นายสำราญจะถึงแก่ความตายเห็นว่า หากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 เป็นความจริงก็ถือได้ว่ามีการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โดยสุจริตมีปัญหาว่า คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ฟังได้หรือไม่ เห็นว่าคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 สอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1และโจทก์ทั้งสองนำสืบไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5044 ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โดยไม่สุจริตอย่างไร คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้แบ่งที่ดินมรดกโฉนดเลขที่ 5044 ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไปตามข้อตกลงของทายาทเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าสมควรถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายสำราญเจ้ามรดกหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จัดการมรดกโดยสุจริตแล้วคงมีเฉพาะปัญหาที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เห็นว่าโจทก์ทั้งสองและทายาททุกคนทราบดีว่าทรัพย์มรดกของนายสำราญมีอะไรบ้างและจำเลยที่ 1 ก็ได้แบ่งทรัพย์ให้แก่ทายาทบ้างแล้วและเตรียมที่จะแบ่งต่อไปซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปิดบังมรดกของนายสำราญแต่อย่างใด และยังได้นำที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของมาแบ่งให้แก่ทายาทอีกด้วย การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดทำบัญชีทรัพย์ไม่ใช่เหตุที่จะต้องถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกเสมอไปและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1731 ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่ามีเหตุสมควรที่จะถอนผู้จัดการมรดกเพียงใดหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรก็สั่งถอนได้หรือถ้าศาลเห็นว่ายังไม่มีเหตุสมควรศาลจะยังไม่สั่งถอนก็ได้ พฤติการณ์เท่าที่ปรากฏยังไม่สมควรจะถอนนางสนม ทับเอี่ยม จำเลยที่ 1 จากผู้จัดการมรดกของนายสำราญผู้ตายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมีปัญหาว่าสมควรให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของโจทก์ที่ 1แต่โจทก์ที่ 1 มีความเห็นขัดแย้งกับจำเลยที่ 1 ถึงขั้นแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และนำเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1โจทก์ที่ 2 แม้เป็นโจทก์ด้วยกันก็ไม่พอใจการกระทำของโจทก์ที่ 1หากตั้งผู้จัดการมรดกสองคน การจัดการจะต้องดำเนินการร่วมกันคนหนึ่งคนใดก็ไม่อาจจัดการไปได้ การจัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่จะให้จัดการร่วมกันก็จะไร้ผล ข้อขัดข้องในการจัดการแบ่งมรดกก็คงมีอยู่ต่อไปไม่อาจแบ่งปันให้แก่ทายาทได้ จึงเห็นควรให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกไปฝ่ายเดียวโดยไม่ให้โจทก์ที่ 1ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกด้วย แต่เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทด้วย ในกรณีที่จำเลยที่ 1 จะจัดการมรดกไปในทางจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อภาระติดพันกับทรัพย์มรดกที่มีหลักฐานทางทะเบียนให้แก่ทายาทหรือบุคคลภายนอกโดยมิได้รับความเห็นชอบจากทายาททุกคนนั้นต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยให้ถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายสำราญแล้วตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสำราญและให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5044ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แล้วพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ แต่การจัดการมรดกของจำเลยที่ 1ให้อยู่ในเงื่อนไขที่ว่าในการแบ่งมรดกให้แก่ทายาทหรือถ้าจะจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อภาระติดพันกับทรัพย์มรดกที่มีหลักฐานทางทะเบียนให้แก่บุคคลภายนอกโดยมิได้รับความยินยอมจากทายาททุกคนแล้วจะต้องขออนุญาตศาลก่อน