แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 19 บัญญัติว่า ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการจะฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ แต่ถ้าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ฟ้องเป็นหนังสือก็ได้ และการฟ้องด้วยวาจานั้น ให้โจทก์แจ้งต่อศาลถึงชื่อโจทก์ชื่อ ที่อยู่ และสัญชาติของจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด โดยศาลเป็นผู้บันทึกใจความไว้เป็นหลักฐานและให้คู่ความลงชื่อไว้ ดังนั้น การฟ้องด้วยวาจาอันเป็นวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงจึงมีกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะและให้ศาลเป็นผู้บันทึกคำฟ้องไว้เป็นหลักฐาน ส่วนบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา 157 (7) เป็นกรณีที่ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมีลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียน หรือพิมพ์ฟ้องเมื่อคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดสระบุรีอันเป็นท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการจึงย่อมนำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดสระบุรีตาม พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3 ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจา และศาลได้บันทึกใจความแห่งคำฟ้องไว้ โดยโจทก์และจำเลยได้ลงชื่อไว้แล้ว การฟ้องด้วยวาจาของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจแล้ว ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง จำคุก 2 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียน หรือพิมพ์ฟ้อง ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 บัญญัติว่า ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการจะฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ แต่ถ้าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ฟ้องเป็นหนังสือก็ได้ และการฟ้องด้วยวาจานั้นให้โจทก์แจ้งต่อศาลถึงชื่อโจทก์ ชื่อ ที่อยู่ และสัญชาติของจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด โดยศาลเป็นผู้บันทึกใจความไว้เป็นหลักฐาน และให้คู่ความลงชื่อไว้ ดังนั้น การฟ้องด้วยวาจาอันเป็นวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงจึงมีกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ และให้ศาลเป็นผู้บันทึกคำฟ้องไว้เป็นหลักฐาน ส่วนบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) เป็นกรณีที่ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมีลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงตามสำเนาปรากฏว่าคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดสระบุรีอันเป็นท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการ จึงย่อมนำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดสระบุรี ตามพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจาและศาลได้บันทึกใจความแห่งคำฟ้องไว้ โดยโจทก์และจำเลยได้ลงชื่อไว้แล้ว การฟ้องด้วยวาจาของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งข้อความและความเห็นของพนักงานคุมประพฤติที่เป็นผลร้ายให้จำเลยทราบ อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 นั้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้แจ้งผลรายงานการสืบเสาะและพินิจให้จำเลยทราบแล้ว และจำเลยไม่คัดค้านตามรายงานกระบวนการพิจารณาลงวันที่ 25 กันยายน 2545 ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ทรัพย์ของกลางที่ยักยอกตามฟ้องเป็นรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บค 6456 สระบุรี ไม่ใช่ทรัพย์ของกลางในคดีซึ่งเป็นรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บ 6456 สระบุรี ทำนองว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องว่า จำเลยยักยอกรถยนต์หมายเลขทะเบียน บค 6456 สระบุรี ของผู้เสียหายเมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การ จำเลยให้การรับสารภาพ จำเลยจะฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นมิได้ เพราะต้องถือว่ามิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยได้รับมอบการครอบครองรถยนต์ของผู้เสียหายไว้ใช้งาน แต่กลับเบียดบังยักยอกเอารถยนต์ดังกล่าวเป็นของตนเองโดยทุจริต ลักษณะของการกระทำความผิดเป็นการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว มิได้คำนึงถึงความเดือนร้อนของผู้อื่น ผิดปกติวิสัยของสุจริตชนและภายหลังเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าจำเลยได้บรรเทาผลร้ายโดยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด จึงนับว่าเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง ลำพังแต่จำเลยมีคุณงามความดีมาก่อน และให้การรับสารภาพมาโดยตลอดรวมทั้งมีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวหรือเหตุผลจำเป็นประการอื่นตามที่กล่าวอ้างในฎีกายังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน