คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6380/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำเพลงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกแพร่เสียงซ้ำ และจัดให้ประชาชนฟัง โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อื่นทางการค้าจากบุคคลทั่วไปซึ่งการกระทำที่จะเป็นความผิดดังกล่าว ต้องเป็นการกระทำแก่งานลิขสิทธิ์ประเภทงานแพร่เสียงแพร่ภาพ ซึ่งหมายความถึงงานที่นำออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทาทงวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์ หรือโดยวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกันตามบทนิยามในพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 แต่ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวเพียงว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมกับสิ่งบันทึกเสียงเท่านั้น โดยไม่ได้กล่าวว่าเพลงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเป็นงานแพร่เสียงแพร่ภาพ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29
ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น “เพื่อหากำไร” เท่านั้น แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยนำเพลงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า แต่การกระทำ “เพื่อการค้า” กับการกระทำ “เพื่อหากำไร” มีความหมายแตกต่างกันได้ คำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาจะหากำไรโดยตรงจากการนำเพลงดังกล่าวออกแพร่เสียง จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ไม่ครบถ้วนไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2549 เวลากลางวัน จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงของบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยและมีภูมิลำเนาในประเทศไทยโดยนำสิ่งบันทึกเสียงแผ่นซีดีรอมเอ็มพี 3 ซึ่งบันทึกเพลงตามรายชื่อเพลงท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายจำนวนเท่าใดไม่ปรากฏชัด มาทำซ้ำ ดัดแปลงเพลงดังกล่าว แล้วบันทึกลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ภายในร้านเมมโมรี่คอมพิวเตอร์ของนายวุฒินันท์ สนิทมาก แล้วนำออกแพร่เสียงซ้ำทั้งหมดหรือบางส่วน และจัดให้ประชาชนฟัง อันเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อื่นจากบุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่างานดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดจอมอนิเตอร์ (Monitor) 1 จอ หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) 9 เครื่อง แผงแป้น -อักขระ 1 แผง เม้าส์ 1 อัน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จำเลยใช้กระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 5, 6, 8, 15, 27, 28, 29, 31, 69, 75, 76 ริบของกลาง และให้จ่ายค่าปรับตามคำพิพากษาแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุนายสงวนศักดิ์ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหาย นำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นร้านเมมโมรี่คอมพิวเตอร์ ซึ่งเปิดให้ลูกค้าใช้บริการอินเทอร์เน็ตและเกม โดยมีจำเลยเป็นผู้ควบคุมดูแล พบข้อมูลเพลงเอ็มพี 3 ซึ่งมีงานเพลงที่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามสำเนาหนังสือยืนยันลิขสิทธิ์เอกสารหมาย จ.3 บันทึกอยู่ในหน่วยประมวลผลกลาง ของเครื่องคอมพิวเตอร์ 9 เครื่อง ภายในร้านดังกล่าว เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมจำเลยพร้อมแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า และยึดหน่วยประมวลผลกลางของเครื่องคอมพิวเตอร์ 9 เครื่อง จอมอนิเตอร์ 1 จอ แผงแป้นอักขระ 1 แผง และเม้าส์ 1 อัน เป็นของกลาง ตามบัญชีของกลางและบันทึกการจับกุม เอกสารหมายจ.6 และ จ.7 นำส่งเจ้าพนักงานสอบสวนดำเนินคดี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำเพลงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกแพร่เสียงซ้ำ และจัดให้ประชาชนฟัง โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อื่นทางการค้าจากบุคคลทั่วไป ซึ่งการกระทำที่จะเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ต้องเป็นการกระทำแก่งานลิขสิทธิ์ประเภทงานแพร่เสียงแพร่ภาพ ซึ่งหมายความถึงงานที่นำออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์ หรือโดยวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกันตามบทนิยามในมาตรา 4 แต่ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวเพียงว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมกับสิ่งบันทึกเสียงเท่านั้น โดยไม่ได้กล่าวว่าเพลงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเป็นงานแพร่เสียงแพร่ภาพ การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องในส่วนนี้ จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์…” นั้นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น “เพื่อหากำไร” เท่านั้น แม้โจทก์บรรยายมาในฟ้องว่า จำเลยนำเพลงซึ่งบันทึกลงในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้าก็ตาม แต่การกระทำ “เพื่อการค้า” กับการกระทำ “เพื่อหากำไร” มีความหมายแตกต่างกันได้ ดังจะเห็นได้จากการที่มาตรา 70 วรรคสอง ได้บัญญัติให้ผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 31 เพื่อการค้า ต้องระวางโทษหนักกว่าการกระทำเพื่อหากำไรตามมาตรา 70 วรรคหนึ่งทั้งตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาจะหากำไรโดยตรงจากการนำเพลงดังกล่าวออกแพร่เสียง คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ไม่ครบถ้วน ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในข้อนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง สำหรับปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานทำซ้ำดัดแปลงงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 และ 28 หรือไม่นั้น โจทก์นำสืบว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 12 นาฬิกา นายสงวนศักดิ์เข้าไปใช้บริการในร้านเมมโมรี่-คอมพิวเตอร์ซึ่งเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยคิดค่าบริการ 20 ถึง 40 บาท ต่อชั่วโมงพบเด็กหลายคนเข้ามาเล่นเกมและเปิดเพลงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ฟังไปพร้อมกัน เด็กบางคนยังบันทึกข้อมูลเพลงเอ็มพี 3 ที่ละเมิดลิขสิทธิ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ลงในแฮนดีไดรฟ์ (Handy Drive) โดยมีเพลงที่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ตามสำเนาหนังสือยืนยันลิขสิทธิ์เอกสารหมาย จ.3 ถูกบันทึกด้วย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายนายสงวนศักดิ์จึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชรและนำสิบตำรวจเอกอนุสรณ์ กุลนันทคุณ ไปตรวจค้นที่ร้านดังกล่าว เมื่อตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ 9 เครื่อง พบว่ามีการบันทึกงานเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นข้อมูลเอ็มพี 3 อยู่ในหน่วยประมวลผลกลางของเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งเก้าเครื่องโดยใช้การกระจายข้อมูลในระบบแลน (LAN) ซึ่งจำเลยเป็นผู้ควบคุมระบบผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหลัก ส่วนจำเลยนำสืบว่า ร้านดังกล่าวเป็นของนายวุฒินันท์พี่ชายจำเลย โดยจำเลยมีหน้าที่ดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ ลูกค้าของร้านส่วนมากจะใช้บริการเล่นเกมออนไลน์โดยไม่ได้บันทึกข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเปิดเพลงฟังนายวุฒินันท์เป็นผู้บันทึกข้อมูลลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่จำเลยไม่ทราบว่าข้อมูลเพลงดังกล่าวเข้ามาอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร เห็นว่า แม้โจทก์มีนายสงวนศักดิ์ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหาย กับสิบตำรวจเอกอนุสรณ์ซึ่งเดินทางไปตรวจสอบที่ร้านพร้อมกับนายสงวนศักดิ์มาเบิกความว่า ผลการตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ภายในร้านพบว่ามีเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายบันทึกอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ตามภาพถ่ายหมายจ.4 โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานเพลงดังกล่าวก็ตาม แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้ทำซ้ำหรือดัดแปลงข้อมูลเพลงของผู้เสียหายโดยนำสิ่งบันทึกเสียงแผ่นซีดีรอมเอ็มพี 3 ซึ่งบันทึกเพลงอันเป็นงานลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาบันทึกลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้ดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลาง แต่ปรากฏว่าร้านดังกล่าวเป็นของนายวุฒินันท์ ทั้งในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ. 10 กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยเป็นผู้ทำซ้ำดัดแปลงงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายจริงตามฟ้องจริงหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share