คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3567/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด ให้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวเพราะจำเลยไม่มาศาลในวันพิจารณา เมื่อจำเลยมาศาลในวันนัดสืบพยานและยื่นคำร้องว่าไม่จงใจขาดนัดขอให้ศาลอนุญาตให้ยื่นคำให้การแม้จะพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดซึ่งไม่อาจเพิกถอนคำสั่งนั้นได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 41 ก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยมาศาลในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 205 วรรคสอง ศาลแรงงานต้องพิจารณาว่าการขาดนัดของจำเลยเป็นไปโดยมิได้จงใจหรือมีเหตุอันสมควรหรือไม่ หากได้ความว่าจำเลยขาดนัดโดยมิได้จงใจหรือมีเหตุอันสมควรก็ชอบที่จะอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การและนัดพิจารณาคดีใหม่
ถิ่นที่สำนักงานใหญ่หรือที่ตั้งทำการของนิติบุคคลอันนับว่าเป็นภูมิลำเนาของนิติบุคคลนั้น หมายถึงถิ่นอันเป็นที่ตั้งสำนักงานบริหารกิจการของนิติบุคคลตามความเป็นจริง หาใช่เพียงแต่ปรากฏตามทะเบียนว่าเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่เท่านั้นไม่ฉะนั้น เมื่อโจทก์ทราบว่าภูมิลำเนาของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลเปลี่ยนไปแล้ว ก็จะถือเอาประโยชน์จาก การที่ในทะเบียนยังปรากฏว่าจำเลยมีสำนักงานใหญ่อยู่ ณ ภูมิลำเนาเดิมมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งแม่บ้านใหญ่โรงแรมชวลิต ต่อมาจำเลยได้โอนกิจการโรงแรมชวลิตให้เป็นหน่วยงานหนึ่งของโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ และมีคำสั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติงานในตำแหน่งแม่บ้านของตึกซึ่งมีแม่บ้านใหญ่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์เป็นผู้บังคับบัญชา การโอนนี้จำเลยมิได้สอบถามโจทก์ ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบและโจทก์มิได้ยินยอมด้วย ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้กระทำผิดขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยและค่าสินจ้างล่วงหน้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลแรงงานกลางสั่งรับคดีไว้พิจารณาและนัดพิจารณาในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔ ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยได้โดยวิธีปิดหมาย ณ เลขที่ ๘๖๙/๑ ถนนเพชรบุรี เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นภูมิลำเนาจำเลยตามฟ้องในวันนัดพิจารณาจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด ให้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว โดยนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๒๔
ในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยได้ย้ายสำนักงานไปจากเลขที่ ๘๖๙/๑ ถนนเพชรบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ ไปอยู่ที่โรงแรมชวลิต เลขที่ ๑๗๑ ถนนสุขุมวิท เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเก่าได้ปิดแล้วโจทก์ทำงานอยู่ที่โรงแรมชวลิตทราบความข้อนี้ดี จำเลยเพิ่งทราบว่าถูกฟ้องเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๒๔ จำเลยยังมิได้รับหมาย ไม่จงใจขาดนัด ขอให้ศาลอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ตามหลักฐานที่โจทก์ส่งศาลปรากฏว่า จำเลยมีภูมิลำเนา ณ สถานที่ที่ปรากฏในฟ้อง เมื่อศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดแล้ว จำเลยมิได้มายื่นคำร้องหรือแถลงต่อศาลถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง จึงไม่มีเหตุที่จะไต่สวนตามคำร้องของจำเลย ให้ยกคำร้องและให้โจทก์นำพยานเข้าสืบต่อไป จำเลยยื่นคำคัดค้านไว้แล้ว
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยมิได้ดำเนินกิจการโรงแรมชวลิตต่อไป ถือว่าจำเลยเลิกกิจการอันเป็นการเลิกจ้างโจทก์พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้าง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ขอให้ยกฟ้องหรือพิจารณาคดีใหม่
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เมื่อศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด ให้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว เพราะจำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาแล้ว การพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวจะดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างไรย่อมต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัด เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลมตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การที่จำเลยมาศาลในวันนัดสืบพยานและยื่นคำร้องว่าไม่จงใจขาดนัดขอให้ศาลอนุญาตให้ยื่นคำให้การนั้น แม้จะพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดแล้วซึ่งศาลแรงงานกลางไม่อาจเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา ๔๑ ก็ตาม แต่ถือได้ว่า จำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดมาศาลในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๐๕ วรรคสอง ศาลแรงงานกลางต้องพิจารณาว่าการขาดนัดของจำเลยมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรหรือไม่ หากได้ความว่าจำเลยขาดนัดโดยมิได้จงใจหรือมีเหตุอันสมควร ก็ชอบที่จะอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การและนัดพิจารณาคดีใหม่ แต่ถ้าเห็นว่าการขาดนัดนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควร ก็ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปโดยไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การและในกรณีเช่นนี้สิทธิของจำเลยย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๙ วรรคสอง และมาตรา ๒๐๕ วรรคสาม
ถิ่นที่สำนักงานใหญ่หรือที่ตั้งทำการของนิติบุคคลอันนับว่าเป็นภูมิลำเนาของนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๑ นั้น หมายถึงถิ่นอันเป็นที่ตั้งสำนักงานบริหารกิจการของบุคคลนั้นตามความเป็นจริง หาใช่เพียงแต่ปรากฏตามทะเบียนว่าเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่เท่านั้นไม่ ฉะนั้น หากได้ความตามคำร้องของจำเลยว่า จำเลยได้ย้ายสำนักงานไปอยู่ที่โรงแรมชวลิตโดยโจทก์เองเป็นลูกจ้างของจำเลยทำงานอยู่ที่โรงแรมชวลิตทราบความดังกล่าวดีภูมิลำเนาของจำเลยก็เปลี่ยนไปยังถิ่นที่ตั้งโรงแรมชวลิตแล้วเมื่อโจทก์ทราบถึงการเปลี่ยนภูมิลำเนาของจำเลยดีก็จะถือเอาประโยชน์จากการที่ในทะเบียนยังปรากฏข้อความว่าจำเลยมีสำนักงานใหญ่อยู่ ณ ภูมิลำเนาเดิมมิได้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการไต่สวนคำร้องขอยื่นคำให้การของจำเลยแล้วมีคำสั่งและดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share