แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่2อายุ14ปีไปในที่ต่างๆโดยบิดามารดาของผู้เสียหายที่2ไม่ทราบว่าไปไหนเป็นเวลาหลายชั่วโมงย่อมเป็นการละเมิดต่ออำนาจปกครองของผู้ปกครองแม้ผู้เสียหายที่2จะสมัครใจไปด้วยและจำเลยมิได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่2ก็เป็นการพรากเด็กอายุไม่เกิน15ปีไปเสียจากผู้ปกครองโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา317วรรคแรก
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยสำนวนแรกโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 310, 317, 91 สำนวนที่สองโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,309, 310, 362, 364, 365 ริบมีดของกลางและนับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีแรก
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคแรก จำคุก 4 ปี มาตรา 317 วรรคท้าย จำคุก5 ปี มาตรา 365 จำคุก 1 ปี มาตรา 309 วรรคสอง, 310 วรรคแรกลงโทษตามมาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก2 ปี เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุก 12 ปี ทางนำสืบของจำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างนับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี มีดของกลางศาลสั่งริบในคดีอื่นแล้วจึงไม่ริบอีกและที่โจทก์ขอให้นับโทษของจำเลยในสำนวนที่สองต่อจากโทษในสำนวนคดีแรกนั้น เมื่อศาลพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนรวมกันแล้วจึงให้ยกคำขอโจทก์ในส่วนนี้ คำขออื่นให้ยก
โจทก์ ทั้ง สอง สำนวน อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุเด็กหญิงเยาวลักษณ์ ติยะบุตร ผู้เสียหายที่ 2 อายุ 14 ปี อยู่ในความปกครองของนางอัมพร ติยะบุตร ผู้เสียหายที่ 1 กับนายประหยัด ผู้เสียหายที่ 2 เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2ของโรงเรียนสามผงวิทยาคม จำเลยมีอาชีพขับรถยนต์รับจ้างรู้จักผู้เสียหายที่ 2 และเคยไปมาหาสู่กับผู้เสียหายที่ 2 บ่อยครั้งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2535 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 2เลิกจากโรงเรียนขณะเดินกลับบ้านพบจำเลยจอดรถยนต์อยู่ที่หน้าวัดโพธิ์ชัย จำเลยได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปในที่ต่าง ๆ จนกระทั่งเวลาประมาณ 22 นาฬิกา พากลับมาที่บ้านจำเลยให้นางหอมหวลมารดาของจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปส่งบ้าน แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำชำเราผู้เสียหาย แต่เห็นว่า การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปในที่ต่าง ๆ โดยบิดามารดาของผู้เสียหายที่ 2ไม่ทราบว่าผู้เสียหายที่ 2 ไปไหนเป็นเวลาหลายชั่วโมง ย่อมเป็นการละเมิดต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาผู้ปกครอง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะสมัครใจไปด้วย และจำเลยมิได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นการไม่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาของผู้เสียหายที่ 2 เข้าลักษณะเป็นการพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาผู้ปกครองโดยปราศจากเหตุอันสมควร เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ร่วมประเวณีหรือทำอนาจารเพียงแต่พาไปในงานเลี้ยงวันเกิดของเพื่อนและไปรับประทานอาหารที่บ้านของเพื่อนจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร คงผิดเฉพาะพรากเด็กไปโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคแรก และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่มีเจตนาบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อฉุดผู้เสียหายที่ 2 และเนื่องจากหลังเกิดเหตุแล้ว ผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากัน และผู้เสียหายทั้งสองไม่ติดใจเอาเรื่องกับจำเลยอีกต่อไป ประกอบกับตามความผิดของจำเลยไม่ร้ายแรงนัก สมควรที่จะลงโทษจำเลยในสถานเบาโดยให้จำคุกในอัตราขั้นต่ำของกฎหมายและรอการลงโทษให้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคแรก ให้จำคุก 3 ปี ปรับ 6,000 บาท ลดโทษให้1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี และปรับ4,000 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก