คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9484/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สาระสำคัญของสัญญาทำธุรกิจเพื่อส่งออกมีว่า โจทก์จะจ่ายค่าสินค้าล่วงหน้าให้แก่ลูกค้าหรือนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาให้ลูกค้าผลิตสินค้าเงินที่โจทก์นำมาจ่ายให้แก่ลูกค้าหรือรับภาระแทนลูกค้านั้น โจทก์ได้มาจากธนาคารพาณิชย์โดยนำแอลซีไปวางเป็นประกันต่อธนาคารพาณิชย์ที่เรียกว่าการทำแพคกิ้งเครดิตกับธนาคารหรือโจทก์ออกตั๋วแลกเงินนำไปขายลดให้แก่ธนาคาร ค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่โจทก์ต้องชำระให้แก่ธนาคาร ลูกค้าจะต้องชำระคืนให้โจทก์ทั้งสิ้นตามจำนวนที่โจทก์จ่ายให้ธนาคาร ในกรณีที่ลูกค้าส่งสินค้าออกได้ตามกำหนดและมีการชำระเงินตามแอลซีหรือตั๋วแลกเงินแล้ว โจทก์จะหักกลบลบหนี้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เสียก่อน รวมทั้งค่าบริการที่โจทก์ให้แก่ลูกค้าตามอัตราที่ตกลงกันไว้เหลือเงินเท่าใดจึงชำระให้แก่ลูกค้า แต่ถ้าลูกค้าผิดสัญญาตามสัญญาทำธุรกิจเพื่อส่งออก ข้อ 9 ระบุว่า ลูกค้าจะต้องคืนเงินทดรองจ่ายหรือเงินค่าสินค้าล่วงหน้าที่โจทก์ได้ชำระไปแล้ว รวมทั้งลูกค้าต้องชำระค่าปรับ ค่าเสียหายต่าง ๆ ค่าวัตถุดิบหรือวัสดุที่ซื้อจากต่างประเทศและค่าดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ และข้อ 11 ระบุว่าในกรณีที่ลูกค้าผิดนัดไม่ชำระหนี้ ลูกค้ายินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผิดนัดจนกว่าจะชำระหนี้จนหมดสิ้น นอกจากนี้ในกรณีที่ลูกค้าผิดสัญญาไม่ชำระเงินตามแอลซีหรือไม่ส่งสินค้าออก ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากยอดเงินค่าสินค้าบวกค่าปรับ และโจทก์จะต้องชำระค่าภาษีในการนำเข้าและเบี้ยปรับในการนำสินค้าเข้าหรือในกรณีที่โจทก์นำตั๋วแลกเงินไปขายลด ธนาคารจะเรียกให้โจทก์ชำระเงินตามตั๋วพร้อมทั้งดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์ต้องชำระเงินต่าง ๆ ดังกล่าวเท่าใด โจทก์ก็จะเรียกเอาจากลูกค้าที่ผิดสัญญาเท่านั้น จึงเป็นที่เห็นได้ว่า เมื่อลูกค้าของโจทก์ผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์โดยไม่มีการส่งออกสินค้าตามสัญญาทำธุรกิจเพื่อส่งออก ข้อ 9 โจทก์ย่อมต้องรับผิดต่อธนาคารชำระเงินรวมทั้งดอกเบี้ยทันที ดังนั้นลูกค้าที่ผิดสัญญาก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ทันทีนับแต่วันที่โจทก์ต้องรับผิดต่อธนาคาร โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกค้าที่ผิดสัญญารับผิดในจำนวนเงินที่โจทก์ต้องรับผิดต่อธนาคารนับแต่วันที่ลูกค้าผิดสัญญา หาใช่โจทก์จะต้องชำระเงินให้แก่ธนาคารเสียก่อนจึงจะมีสิทธิเรียกให้ลูกค้าที่ผิดสัญญารับผิดต่อโจทก์ไม่ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าอัตราดอกเบี้ยที่จะให้ลูกค้าต้องรับผิดยังไม่แน่นอนจนกว่าลูกค้าจะมารับสภาพหนี้ต่อโจทก์เสียก่อนนั้น โจทก์ย่อมจะต้องทราบดีว่าในขณะที่ลูกค้าผิดสัญญาต่อโจทก์นั้น ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยอัตราใดเอาแก่โจทก์ทั้งการขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยธนาคารมิใช่ข้ออ้างที่จะไม่ต้องลงบัญชีในดอกเบี้ยค้างรับที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากลูกค้าที่ผิดสัญญา แม้ดอกเบี้ยค้างรับจะมิใช่รายได้จากการประกอบกิจการโดยตรงของโจทก์ แต่ก็เป็นรายได้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องนำลงบัญชีเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดดอกเบี้ยค้างรับนั้น ตามมาตรา 65 วรรคสอง
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าถ้าดอกเบี้ยค้างรับของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นรายได้ตามเกณฑ์สิทธิ โจทก์ย่อมมีสิทธิหักเป็นรายจ่ายในจำนวนเดียวกันได้ ทำให้ไม่มีเงินได้ที่จะต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีนั้น ข้อที่ว่าเงินรายได้ที่โจทก์ถูกประเมินเพิ่มเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนี้จะนำไปหักเป็นรายจ่ายได้หรือไม่เพียงใด ไม่เป็นประเด็นในคดีและมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Share