คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2404/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยนำสืบมานั้นมีข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงกันรับฟังได้ว่างานในงวดที่4โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้ทำถนนงานไฟฟ้ายังไม่เรียบร้อยส่วนงานในงวดที่5ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายยังไม่ได้ติดตั้งสุขภัณฑ์ติดตั้งดวงโคมไฟแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้ทำงานสีแล้วและสรุปว่างานในงวดที่4และงวดที่5ที่โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้ทำได้แก่ถนนทาสีงานสุขภัณฑ์และงานไฟฟ้าบางส่วนซึ่งจะเห็นได้ว่าเหตุผลสำคัญแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์นั้นศาลอุทธรณ์ถือเอาพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยนำสืบข้อเท็จจริงถูกต้องตรงกันมารับฟังเป็นข้อยุติว่าแต่จำเลยกลับฎีกาโต้เถียงว่ารายการค่าใช้จ่ายการสร้างบ้านเอกสารหมายจ.7โจทก์ที่2จัดทำขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้แล้วและมีรายการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างรวม6รายการคำนวณเป็นเงินมากถึง248,620บาทแต่โจทก์ทั้งสองไม่มีหลักฐานใบส่งของหรือใบเสร็จรับเงินมานำสืบประกอบจึงรับฟังไม่ได้นั้นย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าฎีกาของจำเลยข้อนี้จำเลยหาได้กล่าวโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรเพราะเหตุใดไม่จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยป.วิ.พ.มาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ผิดสัญญาและจำเลยถูกบุคคลภายนอกเรียกร้องค่าเสียหายเพราะจำเลยผิดสัญญาจะขายทาวน์เฮาส์ให้คนอื่นเป็นเงิน150,000บาทนั้นค่าเสียหายในส่วนนี้มิใช่เป็นค่าเสียหายที่จำเลยต้องเสียไปเนื่องจากการที่โจทก์ผิดสัญญาอันเป็นผลโดยตรงและเกี่ยวเนื่องจากเหตุที่โจทก์ผิดสัญญาตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านหากแต่เป็นค่าเสียหายอันเนื่องมาจากพฤติการณ์พิเศษเมื่อจำเลยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบก่อนหรือขณะทำสัญญาว่าจำเลยมีข้อผูกพันต่อบุคคลภายนอกที่จะต้องขายบ้านทาวน์เฮาส์เพื่อย้ายเข้ามาอยู่บ้านที่จ้างเหมาให้โจทก์ก่อสร้างแต่อย่างใดโจทก์จึงไม่อาจคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา222วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า วันที่ 26 มกราคม 2532 จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งสองก่อสร้างบ้านลงในที่ดินของจำเลยโดยโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดหาสัมภาระวัสดุและสุขภัณฑ์ต่าง ๆในราคา 800,000 บาท แบ่งชำระเงินเป็น 5 งวด แล้วจำเลยผิดสัญญาขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 386,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและสั่งให้คนงานของโจทก์ทั้งสองหยุดทำงาน แต่โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยหยุดทำงานและทิ้งงาน จำเลยจึงต้องบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2532 ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยต้องว่าจ้างบุคคลภายนอกทำงานต่อจากโจทก์ทั้งสองจนแล้วเสร็จคิดเป็นเงิน 338,432.71 บาท เนื่องจากโจทก์ทั้งสองทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ทำให้จำเลยไม่สามารถย้ายออกจากบ้านทาวน์เฮาส์ของจำเลยเข้าไปอยู่ในบ้านที่ว่าจ้างโจทก์ทั้งสองสร้างและจำเลยได้ทำสัญญาจะขายทาวน์เฮาส์ให้แก่บุคคลภายนอก เป็นเหตุให้ผิดสัญญาจำเลยต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน150,000 บาท โจทก์ทั้งสองจะต้องเสียค่าปรับตามสัญญารวมค่าเสียหายเป็นเงิน 370,978.15 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ทั้งสองชำระเงินจำนวน 370,978.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 351,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ทั้งสองต่อเติมอาคารนอกเหนือจากแบบแปลนในสัญญา ในระยะเวลาก่อสร้างวัสดุก่อสร้างขาดแคลนจำเลยจึงตกลงด้วยวาจาให้โจทก์ทั้งสองก่อสร้างไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2533 โจทก์ทั้งสองมิได้ละทิ้งงานและผิดสัญญาจำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับตามสัญญาจำเลยไม่ได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกก่อสร้างจนแล้วเสร็จ หากจำเลยว่าจ้างบุคคลภายนอกทำงานก่อสร้างต่อก็จะเสียงานไม่เกิน 50,000 บาทจำเลยไม่เคยทำสัญญาจะขายทาวน์เฮาส์ให้แก่บุคคลภายนอกและถูกปรับ จำเลยมิได้บอกกล่าวเรื่องสัญญานี้แก่โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย หากโจทก์ทั้งสองต้องรับผิดจำเลยก็กำหนดเบี้ยปรับเกินความเป็นจริง ฟ้องแย้งเคลือบคลุมขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 208,051 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ6,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้ง
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน200,801 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้จากพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองและจำเลยว่า จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างเหมาให้โจทก์ทั้งสองก่อสร้างบ้านตามรูปแบบเอกสารหมาย จ.1 ในราคา800,000 บาท โดยแบ่งงานการก่อสร้างและชำระค่าก่อสร้างออกเป็น 5 งวด เริ่มทำงานก่อสร้างในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2532และต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2532ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.7และจำเลยว่าจ้างโจทก์ทั้งสองให้ก่อสร้างเพิ่มเติมจากแบบเดิมโดยแก้ไขลานจอดรถยนต์ให้ทำเป็นห้องในราคาค่าก่อสร้าง 40,000 บาทตามเอกสารหมาย ล.1 โจทก์ทั้งสองทำงานงวดที่ 1 ที่ 2 และที่ 3เสร็จ และรับเงินตามงวดทั้งสามพร้อมทั้งหักเงินค่าประกันเรียบร้อยแล้ว ตามใบรับเงินเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ระหว่างนั้นโจทก์ทั้งสองได้ทำหนังสือถึงจำเลยเพื่อขอขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2532 เนื่องจากทางราชการอนุมัติการก่อสร้างล่าช้าและขาดแคลนวัสดุก่อสร้างเช่นปูนซีเมนต์ เสาเข็มและการต่อเติมบ้านนอกเหนือจากแบบแปลนตามเอกสารหมาย ล.4โจทก์ทั้งสองทำงานงวดที่ 3 เสร็จ แต่ในการจ่ายเงินค่าก่อสร้างให้โจทก์ทั้งสอง จำเลยได้บันทึกในใบรับเงินเอกสารหมาย ล.5 ว่าไม่ใช่เป็นการยินยอมต่อสัญญา จากนั้นโจทก์ทั้งสองทำงานงวดที่ 4 ต่อโดยโจทก์ที่ 2 มีหนังสือถึงจำเลยขอขยายระยะเวลาก่อสร้างต่อไปอีกจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2533 เนื่องจากเหตุล่าช้าของวัสดุก่อสร้างเช่น ปูนซีเมนต์ เสาเข็ม ปาร์เกต์ การต่อเติมบ้านและช่วงฤดูฝนทำงานไม่สะดวก ตามเอกสารหมาย ล.6 ส่วนจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ทั้งสองบอกเลิกสัญญาและจะหาบุคคลอื่นก่อสร้างต่อไปตามเอกสารหมาย ล.12 โจทก์ทั้งสองขอทำงานต่อ แต่จำเลยไม่ยินยอมโจทก์ที่ 2 จึงไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลหลักสองตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.3 และมีหนังสือถึงจำเลยว่าจำเลยผิดสัญญาขอให้คิดเงินค่าก่อสร้างชำระให้โจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.4
สำหรับประเด็นว่าโจทก์ทั้งสองทำงานในงวดที่ 4 และงวดที่ 5ซึ่งเป็นงานงวดสุดท้ายไปแล้วเพียงใด นั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยนำสืบมานั้น มีข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงกันรับฟังได้ว่า งานในงวดที่ 4 โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้ทำถนน งานไฟฟ้ายังไม่เรียบร้อย ส่วนงานในงวดที่ 5ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย ยังไม่ได้ติดตั้งสุขภัณฑ์ ติดตั้งดวงโคมไฟแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้ทำงานสีแล้วและสรุปว่างานในงวดที่ 4 และงวดที่ 5 ที่โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้ทำได้แก่ ถนน ทาสี งานสุขภัณฑ์ และงานไฟฟ้าบางส่วน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเหตุผลสำคัญแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์นั้น ศาลอุทธรณ์ถือเอาพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยนำสืบข้อเท็จจริงถูกต้องตรงกันมารับฟังเป็นข้อยุติ แต่ฎีกาของจำเลยข้อนี้ จำเลยกลับฎีกาโต้เถียงว่า รายการค่าใช้จ่ายการสร้างบ้านเอกสารหมาย จ.7โจทก์ที่ 2 จัดทำขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้แล้วและมีรายการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้าง รวม 6 รายการคำนวณเป็นเงินมากถึง 248,620 บาท แต่โจทก์ทั้งสองไม่มีหลักฐานใบส่งของหรือใบเสร็จรับเงินมานำสืบประกอบ จึงรับฟังไม่ได้ นั้นย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าฎีกาของจำเลยข้อนี้ จำเลยหาได้กล่าวโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรเพราะเหตุใดไม่ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าก่อสร้างในสองงวดสุดท้ายแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่เพียงใด ในข้อนี้ที่จำเลยฎีกาว่า นอกจากจำนวนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ให้จำเลยแล้ว จำเลยยังมีสิทธิเรียกร้องค่าวัสดุตามใบส่งสินค้า ตามเอกสารหมาย ล.14 ฉบับที่ 2 ถึงที่ 5รวมเป็นเงิน 3,205 บาท ฉบับที่ 31 ถึงฉบับที่ 41 เป็นเงิน75,042 บาท และตามเอกสารหมาย จ.6 (2 ฉบับ) เป็นเงิน 32,440 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 110,687 บาทนั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวทั้งหมดนอกจากฉบับที่ 35 และ 36 ล้วนเป็นใบส่งสินค้าชั่วคราวโดยไม่ปรากฏว่าเป็นวัสดุที่ได้นำมาใช้ในการก่อสร้างงานงวดส่วนไหนโดยเฉพาะใบส่งสินค้าดังกล่าวไม่ปรากฏชื่อผู้ขายหรือผู้ส่งทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการชำระเงินแล้วหรือไม่ ส่วนสำเนาบิลเงินสดฉบับที่ 35 และ 36 ดังกล่าวก็มีแต่ชื่อผู้ขายโดยไม่ปรากฏว่าขายให้ใครหรือใครเป็นผู้ซื้อ พยานหลักฐานที่จำเลยอ้างถึงดังกล่าวจึงยังไม่พอฟังที่จะให้รับฟังเพื่อกำหนดค่าวัสดุก่อสร้างเพิ่มเติมให้ตามฎีกาของจำเลยได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปว่าจำเลยจะต้องคืนเงินประกันจำนวน 10,800 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินประกันตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้าน เอกสารหมาย ล.7 จึงไม่ต้องคืนเงินประกันแก่โจทก์ทั้งสองนั้น ในข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีสิทธิยึดเงินประกันค่าก่อสร้าง จึงต้องคืนเงินประกันค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสอง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายว่าโจทก์ทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับและค่าเสียหายต่อจำเลยเพียงใด สำหรับเบี้ยปรับศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ทั้งสองชดใช้เบี้ยปรับแก่จำเลยรวมเป็นเงิน 30,000 บาทหรือประมาณวันละ 112 บาท รวม 268 วัน จึงเป็นเบี้ยปรับที่สูงมากพออยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่จะกำหนดให้สูงกว่านี้ส่วนค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ทั้งสองผิดสัญญาและจำเลยถูกบุคคลภายนอกเรียกร้องค่าเสียหายเพราะจำเลยผิดสัญญาจะขายทาวน์เฮาส์ให้คนอื่นเป็นเงิน 150,000 บาท นั้น ค่าเสียหายในส่วนนี้มิใช่เป็นค่าเสียหายที่จำเลยต้องเสียไป เนื่องจากการที่โจทก์ทั้งสองผิดสัญญาอันเป็นผลโดยตรงและเกี่ยวเนื่องจากเหตุที่โจทก์ทั้งสองผิดสัญญา ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านเอกสารหมาย ล.7ข้อ 5 วรรคสอง ข. หากแต่เป็นค่าเสียหายอันเนื่องมาจากพฤติการณ์พิเศษ เมื่อจำเลยมิได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบก่อนหรือขณะทำสัญญาว่าจำเลยมีข้อผูกพันต่อบุคคลภายนอกที่จะต้องขายบ้านทาวน์เฮาส์เพื่อย้ายเข้ามาอยู่บ้านที่จ้างเหมาให้โจทก์ทั้งสองก่อสร้างบ้านแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้า จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากโจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง
พิพากษายืน

Share